คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้กำกับแขวงการทางและมีหน้าที่รับเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับราชการแขวงการทางด้วยจำเลยที่ 1 เบิกเงินจากจำเลยที่ 2 ไป เพื่อชำระค่าสิ่งของที่จำเลยที่ 1 ซื้อเชื่อจากโจทก์มาใช้ในราชการแขวงการทางซึ่งอยู่ในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินเสียดังนี้ ถึงแม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 1 ก็เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบราชการ จำเลยที่ 1 หาใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไม่จะนำกฎหมายเรื่องตัวการตัวแทนมาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ รับราชการแขวงการทางจังหวัดสกลนคร มีตำแหน่งหน้าที่จัดหาพัสดุให้แก่ราชการแขวงการทางจังหวัดสกลนคร จำเลยที่ ๒ เป็นผู้กำกับแขวงการทาง เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่รับเบิกจ่าเงินเกี่ยวกับราชการแขวงการทาง จำเลยที่ ๓ เป็นนิติบุคคลมีหน้าที่ควบคุมกิจการต่าง ๆ เกี่ยวกับกรมทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งจำเลยที่ ๑ – ๒ อยู่ใต้บังคับบัญชาจำเลยที่ ๑ ซื้อเชื่อเครื่องอะไหล่และอุปกรณ์รถยนต์ของโจทก์เพื่อใช้ในราชการแขวงการทางจังหวัดสกลนคร ค้างชำระเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทางถามแล้วจำเลยที่ ๒ ตอบว่าทางราชการแขวงการทางเบิกเงินมอบให้จำเลยที่ ๑ นำชำระโจทก์แล้ว การที่จำเลยที่ ๑ รับเงินแล้วไม่ชำระโจทก์ และจำเลยที่ ๒ ไม่นำเงินจ่ายให้โจทก์ด้วยตนเองเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ยักยอก ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ควบคุมจำเลยที่ ๑ – ๒ ให้ปฏิบัติราชการตามระเบียบและกฎหมาย แต่หาได้ปฏิบัติไม่ เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ทุจริต จำเลยที่ ๑ – ๒ – ๓ จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าชำระเงินให้หมดแล้ว ไม่มีติดค้าง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การเบิกจ่ายเงินดำเนินไปตามริเบียบมิได้ประมาท
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ได้ควบคุมจำเลยที่ ๑ – ๒ ปฏิบัติราชการตามระเบียบและกฎหมายอย่างดีแล้ว ไม่มีการทุจริต
ก่อนสืบพยาน โจทก์แถลงว่าหนี้ที่ค้างมีเพียง ๙,๔๔๒ บาทเท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ซื้อของโจทก์ไปใช้ในราชการแขวงการทาง นำเงินชำระให้โจทก์บางส่วนอีก ๙,๔๔๒ บาท จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ ไม่เคยติดต่อซื้อของจากโจทก์โดยตรง ฉะนั้น การชำระค่าสิ่งของจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ – ๓ ได้ควบคุมการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๑ เป็นอย่างดี ไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างใด จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ ๒ – ๓ จึงพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๙,๔๔๒ บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ – ๓ เสีย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ ๒ – ๓ รับผิดชำระหนี้ให้โจทก์
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ ว่าชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ – ๓ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๗ เพราะไม่ได้ซื้อของมาใช้ส่วนตัว จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามมาตรา ๘๒๐ ส่วนจำเลยที่ ๒ – ๓ นั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่การจ่ายเงินถูกต้องตามระเบียบทางราชการแล้ว เหตุที่จำเลยที่ ๑ ยักยอกก็เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนตามมาตรา ๘๑๒ จำเลยที่ ๒ – ๓ ควรมีหน้าที่ชำระหนี้ตามมาตรา ๘๒๐ แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ – ๓ ให้รับผิดฐานตัวการตัวแทน จึงไม่มีทางบังคับ จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ด้วย แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ ๒ – ๓ ใหม่
จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ชั้นนี้มีปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หรือไม่เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องนี้จำเลยที่ ๑ ซื้อของโจทก์มาใช้ในราชการซึ่งอยู่ในหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ถึงแม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ ๑ ก็เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบราชการ จำเลยที่ ๑ หาใช่ตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ไม่ จะนำกฎหมายเรื่องตัวการตัวแทนมาใช้บังคับแก่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้
พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒

Share