คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจะระบุว่าการทะเลาะวิวาทถือเป็นความผิดอย่างร้ายแรงก็ตาม จะถือว่าถ้ามีการทะเลาะวิวาทกันแล้วไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็เป็นกรณีร้ายแรงทุกกรณีนั้น ย่อมไม่ชอบด้วยความมุ่งหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 ซึ่งการที่จะฟังว่ากรณีใดเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป กรณีของโจทก์ทั้งสองแม้ได้ทะเลาะวิวาทกันจนถึงขนาดกอดรัดฟัดเหวี่ยงกัน แต่เมื่อ บ.หัวหน้ากะเข้ามาเห็นและแยกโจทก์ทั้งสองออกจากกันแล้วก็ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างไรต่อไปอีก ทรัพย์สินของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าเสียหายอย่างไร ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยด้วยนั้น แต่เมื่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว จำเลยมิได้ถือว่าเป็นกรณีร้ายแรงดังนี้ กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 วันที่ 12 ตุลาคม 2536 เลิกจ้างโจทก์ที่ 2วันที่ 13 ตุลาคม 2536 โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำผิด จำเลยไม่ยอมจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,992 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 12,120 บาท ค่าชดเชย 27,969 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,872 บาทค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 13,746 บาท ค่าชดเชย27,491 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2536 ซึ่งเป็นวันและเวลาทำงานของจำเลยโจทก์ทั้งสองได้ทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย และใช้กิริยากล่าวถ้อยคำที่ไม่สุภาพส่อเสียดทำให้อับอายขายหน้าซึ่งกันและกันอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 27,600 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และจำนวน 27,491 บาท แก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์แต่ละคน นับแต่วันเลิกจ้างคือวันที่ 14 ตุลาคม 2536เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคนคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยหมวดที่ 6 ข้อที่ 4 ประการที่ 10 และหัวข้อที่ 2 ข้อ 2อันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสองทะเลาะวิวาทกันจนถึงขนาดกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันลงบนพื้นซึ่งตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.5 หมวดที่ 6ข้อที่ 4 ประการที่ 10 ระบุไว้ว่า ถือว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรงซึ่งผู้กระทำความผิดดังกล่าวจะถูกเลิกจ้างโดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและจะไม่ได้รับค่าชดเชยหรือค่าเสียหายจากจำเลย ปัญหาวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่เห็นว่า แม้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจะระบุว่าการทะเลาะวิวาทถือเป็นความผิดอย่างร้ายแรงก็ตามจะถือว่าถ้ามีการทะเลาะวิวาทกันแล้วไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็เป็นกรณีร้ายแรงทุกกรณีนั้นย่อมไม่ชอบด้วยความมุ่งหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ซึ่งการที่จะฟังว่ากรณีใดเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป สำหรับกรณีของโจทก์ทั้งสองแม้ได้ทะเลาะวิวาทกันจนถึงขนาดกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันแต่เมื่อนายบุญช่วยหันหน้ากะเข้ามาเห็นและแยกโจทก์ทั้งสองออกจากกันแล้ว ก็ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างไรต่อไปอีก ทรัพย์สินของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าเสียหายอย่างไร ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหัวข้อที่ 2 ข้อ 2 ด้วยนั้นระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว จำเลยมิได้ถือว่าเป็นกรณีร้ายแรงซึ่งจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยก็ต่อเมื่อจำเลยได้ตักเตือนโจทก์ทั้งสองเป็นหนังสือแล้ว ดังนี้กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share