คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อจากจำเลย สัญญาเช่าซื้อได้กำหนดการชำระค่าเช่าซื้อไว้ทุกวันที่ 25 ของเดือน แต่เมื่อโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามกำหนดเวลาหลายงวดโจทก์ขอผ่อนผัน จำเลยก็ยินยอมผ่อนผันให้ และเมื่อโจทก์นำค่าเช่าซื้อมาชำระหลังจากเกินกำหนดเวลาตามงวดแล้ว จำเลยก็ยินยอมรับไว้มิได้ทักท้วง เมื่อจำเลยยึดรถยนต์ไปจากโจทก์ แล้ว จำเลยยังมีหนังสือให้โจทก์เอาเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างมาชำระ ตามพฤติการณ์แสดงว่าในทางปฏิบัติคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเป็นสำคัญดังนี้ จะถือว่าโจทก์ ผิดสัญญา สัญญาจึงเลิกกันตามข้อกำหนดในสัญญาไม่ได้ จำเลยจะเลิกสัญญาได้ก็แต่ด้วยการแสดงเจตนาบอกเลิกตามมาตรา 386 และการบอกเลิกสัญญาก็จะต้องปฏิบัติตามมาตรา387 และ 388 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ ดังนี้ จำเลยจะฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์มิได้
ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นเป็นอำนาจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ที่จะใช้ดุลพินิจพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมหรือจะให้เป็นพับไปก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือในการดำเนินคดีของคู่ความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปจากโจทก์หนึ่งคันราคา 160,000 บาท ชำระเงินแล้ว 45,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระ21 งวด ๆ ละ 5,500 บาท โจทก์ได้ชำระไปแล้ว 97,000 บาท ต่อมาจำเลยได้ยึดรถคันดังกล่าวไปจากโจทก์โดยโจทก์มิได้ผิดสัญญา ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถคันพิพาทคืนแก่โจทก์ โดยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือ 63,000 บาทจากโจทก์ หากไม่ยอมคืนก็ให้จำเลยชำระราคารถยนต์ตามสภาพในช่วงนั้นเป็นเงิน 120,000 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายระหว่างที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถอีก 98,362.50 บาท และค่าเสียหายรายวันวันละ 300 บาทแก่โจทก์

จำเลยให้การว่าโจทก์ได้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยจริงตามสัญญาเช่าซื้อได้กำหนดวันชำระค่าเช่าซื้อไว้ในวันที่ 25 ของทุกเดือน โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาตลอดมา สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยได้เลิกกันไปแล้ว โจทก์ไม่เสียหายดังฟ้อง นอกจากนั้นจำเลยได้ชำระค่าภาษีรถยนต์ปี 2516 แทนโจทก์ 4,000 บาท และเสียค่าใช้จ่ายในการตามรถคืนอีก 6,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ใช้คืนเงินจำเลย 10,000 บาท และให้จำเลยมีสิทธิรับค่าเช่าซื้อที่ชำระแล้ว 97,000 บาทด้วย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยตรงตามกำหนดเวลาหลายงวด แต่จำเลยมิได้บอกเลิกสัญญา หากแต่ได้ผ่อนผันให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง จำเลยไม่มีอำนาจให้โจทก์ส่งมอบรถคืนหรือยึดรถโดยพลการ การที่จำเลยยึดรถคันพิพาทไปเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาเช่าซื้อ ทำให้โจทก์เสียหายต้องจ้างรถอื่นบรรทุกไม้เสียค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 150 บาท โจทก์ชำระเงินค่าภาษีรถยนต์ประจำปีพ.ศ. 2516 ให้จำเลยแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการเอารถคืน พิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คันพิพาทในสภาพเรียบร้อยใช้การได้คืนแก่โจทก์ โดยให้จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลืออีก63,000 บาทจากโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมคืนรถและไม่ยอมรับเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าว ให้จำเลยชำระราคา (หักราคาค่าเช่าซื้อที่โจทก์ยังค้าง 63,000 บาทแล้ว) เป็นเงิน 57,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายวันละ 150 บาท นับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2516 จนกว่าจำเลยจะส่งมอบรถยนต์คืนและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เสร็จ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะราคารถกับค่าเสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรกที่จะวินิจฉัยมีว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ และมีการบอกเลิกสัญญาแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบว่า สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 ได้กำหนดวันชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือจากการชำระในวันทำสัญญาไว้ 21 งวด ทุกวันที่ 25 ของแต่ละเดือน โดยเริ่มงวดแรกนับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2515 เป็นต้นไป โจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ตรงตามกำหนดเวลาหลายงวด แต่โจทก์ได้ขอผัดผ่อน จำเลยก็ยินยอมผ่อนผันให้ และเมื่อโจทก์นำค่าเช่าซื้อมาชำระหลังจากเกินกำหนดเวลาตามงวดแล้ว จำเลยก็ยินยอมรับไว้มิได้ทักท้วง โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อครั้งสุดท้ายเป็นเช็คสั่งจ่ายเงิน 10,000 บาท เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2516 รวมเงินที่โจทก์ชำระในวันทำสัญญากับที่ผ่อนชำระเป็นเงิน 97,500 บาท เฉพาะเงินค่างวดที่ผ่อนชำระเมื่อคำนวณแล้วเป็นการชำระถึงงวดที่ 10 หรืองวดวันที่ 25 เมษายน 2516 ยังค้างชำระค่างวดในขณะนั้นอยู่อีก 6 งวด จำเลยก็ยอมผ่อนผันให้มิได้บอกเลิกสัญญา นอกจากนี้ได้ความว่าภายหลังที่จำเลยให้นายอาคมกับพวกไปยึดรถจากโจทก์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2516 จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2516 ตามเอกสารหมาย ล.1 ให้โจทก์มาติดต่อจัดการเรื่องรถยนต์คันพิพาท ซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความว่าเพื่อให้โจทก์เอาเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างมาชำระ ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการชำระเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาท หากโจทก์ชำระคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามกำหนดเวลา จำเลยก็ยอมผ่อนผันให้ ไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเป็นสำคัญ แม้เกินกำหนดเวลาในสัญญาจำเลยก็ยอมรับชำระหนี้ไว้ ดังนี้ จะถือว่าโจทก์ผิดสัญญายังไม่ได้ ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจึงเป็นอันเลิกกันโดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าว และตามหนังสือของจำเลยลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2516 ถือได้ว่าเลิกสัญญาแล้วนั้น เห็นว่าแม้กรณีจะฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็เป็นเรื่องการไม่ชำระหนี้ หาทำให้สัญญาเลิกกันไปเองไม่ การเลิกสัญญาจะต้องแสดงเจตนาบอกเลิกตามมาตรา 386 และการบอกเลิกสัญญาจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 387, 388 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่จำเลยอ้างว่ามีหนังสือเลิกสัญญาแล้วนั้นตามหนังสือมีข้อความว่า “เนื่องจากได้ยึดรถของท่านมาฯลฯ ท่านยังไม่จัดการ ฉะนั้น ขอให้ท่านมาติดต่อภายในวันที่ 30 พย. 16 นี้ ถ้าท่านไม่มาจะเลิกสัญญาหมดกรรมสิทธิ์และไม่มีการบอกกล่าวใด ๆ ทั้งสิ้น” ตามหนังสือนี้ไม่มีข้อความชัดแจ้งว่าโจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงบอกเลิกสัญญากับโจทก์ เพียงแต่แจ้งให้โจทก์มาติดต่อเกี่ยวกับรถที่ยึดมาถ้าไม่มาจะเลิกสัญญาเท่านั้น ได้ความว่าหลังจากจำเลยมีหนังสือไปแล้ว ต่อมาประมาณ 10 กว่าวันโจทก์มาติดต่อขอรถคืน จำเลยได้เกี่ยงให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง ค่าติดตามเอารถคืน และค่าภาษีรถยนต์ให้จำเลยเสียก่อนแล้วจะคืนรถให้ ซึ่งแสดงว่าจำเลยยังมีความประสงค์ให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้ออยู่ มิได้ถือว่าได้เลิกสัญญากันแล้วแต่อย่างใดจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ การที่จำเลยให้คนไปยึดรถมาจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยต้องส่งรถคืนหรือใช้ราคารถยนต์และใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้ใช้หรือขาดประโยชน์จากรถยนต์คันพิพาท

ปัญหาที่จะพิจารณาต่อไปเกี่ยวกับค่าเสียหายนั้น เมื่อฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ได้บอกเลิกสัญญา ค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระแล้วย่อมตกเป็นของจำเลยตามสัญญาอยู่นั่นเอง กรณีมิใช่เป็นเรื่องริบค่าเช่าซื้อเพราะมีการเลิกสัญญาตามที่จำเลยฎีกา แต่จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการติดตามเอารถคืน ส่วนค่าภาษีรถที่จำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่ได้ชำระให้นั้น ศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ชำระให้จำเลยแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ ดังนี้ จำเลยจะฎีกาข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์มิได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า หากจำเลยไม่ยอมคืนรถควรให้จำเลยใช้ราคารถแก่โจทก์ในราคา 120,000 บาท หักค่าเช่าซื้อที่โจทก์ค้างชำระ63,000 บาท จำเลยต้องชำระให้โจทก์ 57,000 บาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเท่าจำนวนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้ราคารถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์ โดยถือเอาราคารถในเดือนพฤศจิกายน 2516 ที่จำเลยยึดรถไปเป็นเงิน 115,000 บาท ชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้เหตุผลโดยละเอียดแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำ ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับไม่ถูกต้องนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมหรือจะให้เป็นพับไปก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความ ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งรวมทั้งค่าทนายความให้เป็นพับชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share