คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8999/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่ ค. ตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ต่อมา ค. ได้โอนการครอบครองให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรตั้งแต่ปี 2523 จำเลยที่ 2 จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. จะได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกรมสรรพากรโจทก์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2542 จึงเป็นการกระทำโดยสุจริต ส่วนการที่จำเลยที่ 1 เพิ่งจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ภายหลังก็เพียงเพื่อมีชื่อผู้เป็นเจ้าของถูกต้องตามทะเบียน นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เกิดจากการฉ้อฉล โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล สังกัด กระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่ประเมินและจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่นที่ให้อำนาจไว้ อธิบดีกรมสรรพากรเป็นผู้กระทำการแทนโจทก์ มีร้อยเอกสุชาติเป็นอธิบดี ร้อยเอกสุชาติมอบอำนาจให้ดำรงตำแหน่งสรรพากรภาค 11 มีอำนาจลงนามฟ้องคดีแพ่งในมูลคดีที่เกิดขึ้นในเขตรับผิดชอบของสำนักงานสรรพากรภาค 11 จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดนำสถิตย์การก่อสร้างพิปูน ซึ่งเป็นลูกหนี้ค้างชำระค่าภาษีอากรของโจทก์โดยเจ้าหน้าที่ประเมินมีหนังสือแจ้งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนำสถิตย์การก่อสร้างพิปูนทราบ แต่มิได้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าว ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 12 ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างหนี้ภาษีอากร และตรวจสอบพบว่าเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2543 จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 495 ตำบลกรุงชิง กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ 1 ไร่ ราคาประเมินของทางราชการ 178,750 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 2,000 บาท นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 กระทำภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนำสถิตย์การก่อสร้างพิปูน เป็นหนี้ค้างชำระภาษีอากรเป็นการซื้อขายในราคาต่ำกว่าราคาของทางราชการมาก เป็นนิติกรรมที่กระทำโดยร่วมกันไม่สุจริต เป็นการฉ้อฉลเพื่อให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เพื่อมิให้ปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะได้รอดพ้นจากการถูกยึดมาชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมเพื่อให้ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 495 ตำบลกรุงชิง กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นที่แปลงเดียวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 235 ตำบลกรุงชิง อำเภอท่าศาลา (ปัจจุบันกิ่งอำเภอนบพิตำ) จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2521 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายให้แก่นายคลาดบิดาจำเลยที่ 2 จำนวน 1 ไร่ ในราคา 2,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับเงินครบแล้ว ได้มอบที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อครอบครองนับแต่วันทำสัญญา ต่อมานายคลาดได้ยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรเพื่อปลูกสร้างบ้านเป็นที่อยู่อาศัย จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินโดยสงบและเปิดเผย โดยแสดงเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างนายสุรพลและนายสักศิลป์รับเหมาถมที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านเป็นเงิน 60,000 บาท จำเลยที่ 2 เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 แบ่งแยกและโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แทนบิดา จำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวและวันที่ 17 มกราคม 2543 จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรเป็นเงิน 8,949 บาท สัญญาซื้อขายที่ดินกำหนดราคา 2,000 บาท เพราะให้ตรงกับหนังสือสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2521 ซึ่งเป็นการซื้อขายตามราคาเป็นจริงขณะทำสัญญา มิได้กระทำการฉ้อฉลเพื่อให้โจทก์เสียเปรียบ หรือมิได้กระทำการโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่นจำกัดนำสถิตย์การก่อสร้างพิปูนและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว ซึ่งเป็นหนี้ค้างชำระค่าภาษีอากรแก่โจทก์จำนวน 2,993,053 บาท โจทก์ดำเนินการอายัดเงินของจำเลยที่ 1 ที่ฝากไว้ในธนาคารเพื่อชำระหนี้แต่ไม่พอชำระ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ประกาศยึดทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดนำสถิตย์การก่อสร้างพิปูนผู้ค้างภาษีอากรตามสำเนาประกาศเอกสารหมาย จ.7 และมีคำสั่งแต่งตั้งนายเกรียงศักดิ์และนายพิษณุเป็นเจ้าพนักงานยึดทรัพย์ ตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จ.8 ทำการยึดที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 แบ่งแยกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 235 เป็นเนื้อที่ 1 ไร่ แล้ว โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 2,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2543 ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2543 จำเลยที่ 2 ยื่นหนังสือคัดค้านการยึดทรัพย์สินไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชตามเอกสารหมาย จ.10 และผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2543 ตามสำเนาหนังสือสำนักงานสรรพากรจังหวัดนครศรีธรรมราชเอกสารหมาย จ.11 ขณะที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 นั้น ที่ดินพิพาทมีราคาประเมิน 178,750 บาท ตามสำเนาหนังสือแจ้งราคาประเมินเอกสารหมาย จ.12
ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่ โจทก์มีนายเกรียงศักดิ์ นิติกรระดับ 7 ประจำสำนักงานสรรพากรจังหวัดนครศรีธรรมราชเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ในราคา 2,000 บาท ทั้งที่ราคาประเมินประมาณ 150,000 บาท ราคาที่ซื้อขายกันจึงต่ำกว่าราคาแท้จริงมาก น่าเชื่อว่าซื้อขายกันโดยไม่สุจริต นายล้ำเลิศเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินกิ่งอำเภอนบพิตำ เบิกความว่าที่ดินพิพาทมีราคาประเมิน 178,750 บาท ตามสำเนาหนังสือแจ้งราคาประเมินเอกสารหมาย จ.12 เห็นว่า ราคาที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 ตกลงขายให้บิดาของจำเลยที่ 2 จำนวน 2,000 บาท เป็นราคาที่ซื้อขายกันเมื่อปี 2521 ส่วนราคาประเมินจำนวน 178,750 บาท นั้น เป็นราคาประเมินเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2543 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่มีการซื้อขายที่ดินพิพาทกันมาประมาณ 22 ปี ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ที่ตำบลกรุงชิง กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในขณะที่มีการซื้อขายที่ดินกันนั้น พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมูนิสต์ และมีการสู้รบกัน นายสุรพลผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลกรุงชิง ที่รับจ้างจำเลยที่ 2 นำดินมาถมที่ดินพิพาทเบิกความว่า ที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ 1 ไร่ เป็นที่ลุ่ม ต้องถมดินสูงประมาณ 2 เมตร ใช้ดินถม 230 คันรถ ดังนั้นราคาที่ซื้อขายกันจึงเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 ไม่น่าเชื่อถืออย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2521 จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินพิพาทให้นายคลาดบิดาของจำเลยที่ 2 และได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่นายคลาดตั้งแต่วันทำสัญญา ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครอง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 บัญญัติว่า การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้นย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 โอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นายคลาด ตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขาย ต่อมานายคลาดได้โอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองตั้งแต่ปี 2523 และเมื่อปี 2538 ได้ว่าจ้างให้นายสุรพลเข้าไปถมที่ดินพิพาท แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนำสถิตย์การก่อสร้างพิปูนจะได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโจทก์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2542 ตามสำเนาหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเอกสารหมาย จ.4 จึงเป็นการกระทำโดยสุจริต ส่วนการที่จำเลยที่ 1 เพิ่งมาจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในภายหลังก็เพียงเพื่อให้การโอนที่ดินพิพาทมีชื่อผู้เป็นเจ้าของถูกต้องตามทะเบียน นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เกิดจากการฉ้อฉลอันเป็นการทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share