แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 16573 และ 17726 ทิศใต้ของที่ดินทั้งสองแปลงมีลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้ตั้งอยู่ ลำกระโดงดังกล่าวชาวบ้านได้ใช้เป็นทางสัญจรทางน้ำมาเป็นเวลานับสิบ ๆ ปี โดยไม่มีผู้ใดขัดขวางหวงห้าม นอกจากนี้ทางราชการยังเคยเข้าไปขุดลอกเมื่อลำกระโดงนั้นตื้นเขิน ถือได้โดยปริยายว่าเจ้าของที่ดินได้อุทิศที่ดินส่วนที่เป็นลำกระโดงให้เป็นทางน้ำสาธารณประโยชน์แล้วลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ซึ่งไม่อาจโอนให้กันได้ การที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารกำแพงอิฐบล็อคคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้าไปในลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้ซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณประโยชน์โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 69 และข้อ 72 วรรคแรก เมื่อปรากฏว่ากำแพงอิฐบล็อคคอนกรีตเสริมเหล็กของจำเลยทั้งสองในส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในลำกระโดงดังกล่าวไม่สามารถที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 72 วรรคแรกได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตกรุงเทพมหานคร จึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารกำแพงอิฐบล็อคคอนกรีตเสริมเหล็กให้พ้นพื้นที่ลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 16573,16574, 16582 และ 17726 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16573 และ 17726 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองอาคารตึก 3 ชั้น เลขที่ 546/8และเลขที่ 546/9 พร้อมกับกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ด้านล้อมรอบอาคารตึกดังกล่าว เมื่อประมาณวันที่ 16 ธันวาคม 2526ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2527 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันดำเนินการจัดก่อสร้างอาคารเป็นกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กสูง4 เมตร ยาว 58 เมตร รุกล้ำเข้าไปในที่ดินหรือทางลำกระโดงสาธารณะชื่อ “หลอดเจ๊กโป้” อันเป็นที่ดินหรือทางสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นทางสัญจร ทางระบายน้ำและอื่น ๆ โดยกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กดังกล่าวรุกล้ำลำกระโดงเข้าไปลึกประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 58 เมตร คำนวณเป็นพื้นที่รุกล้ำประมาณ 58 ตารางเมตร ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2527พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจพบการกระทำผิดดังกล่าวจึงได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กดังกล่าวเสีย จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือแจ้งแล้วเพิกเฉยไม่ยอมรื้อถอนกลับรีบทำการก่อสร้างอาคารกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กจนแล้วเสร็จ ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2528 โจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร โดยหัวหน้าเขตราษฎร์บูรณะผู้รับมอบอำนาจได้มีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารกำแพงอิฐบล๊อกคอนกรีตเสริมเหล็กเฉพาะส่วนที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตออกไปให้พ้นจากพื้นที่ลำกระโดง (ทางน้ำ) สาธารณะภายในกำหนด40 วัน จำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว ได้ทำหนังสือคัดค้านคำสั่งของโจทก์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองก็เพิกเฉยไม่ยอมรื้อถอนอาคารกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กดังกล่าวออกไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนอาคารกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กดังกล่าวออกไปให้พ้นพื้นที่ลำกระโดงสาธารณะหลอดเจ๊กโป้ ให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีหน้าที่รื้อถอน หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองได้สร้างอาคารกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กตามฟ้องลงบนที่ดินของจำเลยทั้งสองไม่ได้รุกล้ำพื้นที่ลำกระโดงสาธารณะหลอดเจ๊กโป้ เนื่องจากลำกระโดงตามฟ้องไม่ใช่ลำกระโดงสาธารณะ แต่เป็นทางสัญจรส่วนบุคคลที่เจ้าของที่ดินดั้งเดิมขุดขึ้นมาเพื่อใช้น้ำร่วมกันเฉพาะระหว่างเจ้าของที่ดินเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดสิทธิเฉพาะจำเลยเท่านั้นที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนอาคารกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กเฉพาะส่วนที่รุกล้ำพื้นที่ลำกระโดงสาธารณะหลอดเจ๊กโป้ซึ่งรุกล้ำประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ58 เมตร หากจำเลยทั้งสองไม่รื้อถอนก็ให้โจทก์ดำเนินการรื้อถอนโดยให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าใช้จ่ายให้โจทก์และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้เป็นเงิน2,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้600 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 16573, 16574, 16582และ 17726 ตำบลบางปะกอก (ราษฎร์บูรณะฝั่งตะวันตก) เขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16573 และ 17726 ลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้อยู่ทางทิศใต้ของที่ดิน โฉนดเลขที่ 16573 และ 16574 ลำกระโดงกว้างประมาณ 3-4 เมตร เฉพาะส่วนที่ติดกับที่ดินของจำเลยมีความกว้างประมาณ 2 เมตร จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการจัดให้ก่อสร้างอาคารกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 4 เมตร ยาว 58 เมตรรุกล้ำเข้าไปในลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้ลึก 1 เมตร ยาว 58 เมตรโดยจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522และโจทก์ได้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กภายในกำหนด 40 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง จำเลยทั้งสองได้ทราบคำสั่งของโจทก์แล้วไม่ทำการรื้อถอนภายในกำหนดปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า ลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้เป็นทางสาธารณะหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า ชาวบ้านได้ใช้ลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้เป็นทางสัญจรทางน้ำมาเป็นเวลานับสิบ ๆ ปีโดยไม่มีผู้ใดขัดขวางหวงห้าม และทางราชการเคยเข้าไปขุดลอกเมื่อลำกระโดงดังกล่าวตื้นเขิน ถือได้ว่าเจ้าของที่ดินได้อุทิศที่ดินที่เป็นลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้ให้เป็นทางน้ำสาธารณประโยชน์โดยปริยายแล้ว ลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้จึงเป็นทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ แม้จำเลยทั้งสองจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 16573 และ 16574 จากนายมนตรีและนางม่วย จำเลยทั้งสองก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้ไม่การที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้าไปในลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้ซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณประโยชน์ โดยจำเลยทั้งสองมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น จึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 21 ทั้งยังเป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 69 ซึ่งกำหนดว่าห้ามมิให้บุคคลใดปลูกสร้างอาคารหรือส่วนของอาคารยื่นออกมาในหรือเหนือทางหรือที่ดินสาธารณะ และข้อ 72 วรรคแรก ซึ่งกำหนดว่าอาคารปลูกสร้างริมทางสาธารณะที่มีความกว้างไม่เกิน 6.00 เมตรให้ร่นแนวอาคารห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะอย่างน้อย 3.00 เมตรอาคารกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กของจำเลยทั้งสองในส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้จึงไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตกรุงเทพมหานครมีอำนาจสั่งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารกำแพงอิฐบล็อกคอนกรีตเสริมเหล็กให้พ้นพื้นที่ลำกระโดงหลอดเจ๊กโป้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน