คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3917/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การก่อสร้างอาคารที่ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนตามที่ได้รับอนุญาตเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 31 อยู่ในตัว เมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนและแผนผังบริเวณตามที่จำเลยได้รับอนุญาตถือได้ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 31 และมีโทษตามมาตรา 65 กรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นใช้อำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 43 หากเจ้าของอาคารไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงตามคำสั่งมาตรา 43 วรรคสาม บัญญัติถึงมาตรการที่จะดำเนินการต่อไป โดยให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งรื้อถอนอาคารดังกล่าวในส่วนที่เห็นสมควร และให้นำมาตรา 42 วรรคสองวรรคสาม วรรคสี่ วรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม การฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 43 หามีบทบัญญัติลงโทษเจ้าของอาคารผู้ฝ่าฝืนไม่ จำเลยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและอาคารที่ก่อสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม การกำหนดโทษปรับตามมาตรา 70จึงต้องคำนวณจากฐาน 1,000 บาท ตามมาตรา 69 หาใช่คำนวณจากฐาน 500 บาท ตามมาตรา 65 วรรคสอง ไม่ การที่จำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นความผิดกรรมหนึ่ง เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างจำเลยฝ่าฝืนโดยยังคงทำการก่อสร้างต่อไปเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง และในส่วนที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงที่ออกตาม มาตรา 8 หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารนั้นอีกครั้งหนึ่งตามมาตรา 40 วรรคสองและมาตรา 42 วรรคหนึ่ง และหากจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนก็เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหาก การกระทำของจำเลยเป็นความผิด 3 กระทงต่างกรรมกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 31, 40, 42, 43, 67, 69, 70, 71ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 31, 40, 43, 65, 67, 70, 71ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ที่แก้ไขแล้ว ให้ลงโทษฐานก่อสร้างโดยผิดแบบแปลนกระทงหนึ่ง จำคุก 6 เดือนและปรับ 100,000 บาทฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอีกกระทงหนึ่งให้ปรับวันละ 10,000 บาท รวม 97 วัน เป็นเงิน 970,000บาท ฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้แก้ไขกระทงหนึ่งจำคุก6 เดือนและปรับ 50,000 บาท ฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้รื้อถอนกระทงหนึ่ง จำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท และให้ปรับอีก 97 วัน วันละ 10,000 บาท เป็นเงิน 970,000 บาทรวมทุกกระทงแล้วจำคุก 18 เดือน และปรับ 2,140,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 9เดือน และปรับ 1,070,000 บาท โทษจำคุก ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30มีกำหนด 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้รื้อถอนให้ปรับวันละ 10,000 บาท เป็นเวลา 66 วัน เป็นเงิน660,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงปรับ 330,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาไม่รับเฉพาะข้อ 4(ข) ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาข้อที่ 3 ว่า แม้จำเลยได้ทำการก่อสร้างผิดแบบแปลน แผนผัง แต่ก็มิได้ฝ่าฝืนหรือขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 เพราะไม่มีข้อบัญญัติข้อใดในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวบังคับว่า การก่อสร้างอาคารตามแบบที่จำเลยขออนุญาตก่อสร้างต้องมีเสาไม่น้อยกว่า10 ต้น และเว้นที่ว่างเป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกันปราศจากสิ่งปกคลุมกว้าง 3 เมตร จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในเรื่องการควบคุมการก่อสร้างอาคารนั้น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 31 บัญญัติว่า “ห้ามผู้ใดจัดให้มีการก่อสร้าง อาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ ฯลฯ”ผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ซึ่งมีความหมายว่า การก่อสร้างอาคารที่ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนตามที่ได้รับอนุญาติเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 31 อยู่ในตัวดังนั้นเมื่อปรากฎว่า จำเลยได้ทำการก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนและแผนผังบริเวณตามที่จำเลยได้รับอนุญาตก็ถือได้ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา31 และมีโทษตามมาตรา 65 แล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อที่ 4 ว่า ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารตามโจทก์ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 43 นั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติลงโทษไว้ โดยมาตรา 43 วรรคสามได้กำหนดมาตราการสำหรับกรณีไว้เป็นพิเศษแล้ว ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยในข้อหานี้เป็นการไม่ชอบ ข้อนี้เห็นว่า กรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นใช้อำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 นั้น หากเจ้าของอาคารไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารตามคำสั่ง มาตรา 43 วรรคสาม ได้บัญญัติถึงมาตราดำเนินการต่อไป โดยให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวในส่วนที่เห็นสมควร และให้นำมาตรา 42 วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม และการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 43 นี้ ก็หามีบทบัญญัติลงโทษเจ้าของอาคารผู้ฝ่าฝืนไม่ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหานี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
จำเลยฎีกาข้อที่ 5 ว่า ในข้อหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42วรรคสอง, 65 ประกอบด้วยมาตรา 69 และมาตรา 70 นั้น จะต้องปรับจำเลยเป็นรายวันวันละ 6,000 บาท มิใช่วันละ 10,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้อนี้เห็นว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 วรรคสอง ในกรณีที่จะต้องลงโทษปรับเป็นรายวันตามมาตรา 65 วรรคสอง วันละ 500 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าจำเลยเป็นผู้ดำเนินการ มาตรา69 ให้ระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นคือจะต้องลงโทษปรับจำเลยวันละ 1,000 บาท และถ้าอาคารที่จำเลยก่อสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม ก็เป็นกรณีต้องตามมาตรา 70 ซึ่งบัญญัติให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และอาคารที่ก่อสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมการกำหนดโทษปรับตามมาตรา 70นี้จึงต้องคำนวณจากฐาน 1,000 บาท ตามมาตรา 69 หาใช่คำนวณนี้จึงต้องคำนวณจากฐาน 1,000 บาท ตามมาตรา 69 หาใช่คำนวณจากฐาน500 บาท ตามมาตรา 65 วรรคสอง ตามที่จำเลยฎีกาไม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ 3134/2528 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการโจทก์ นายสุธรรมวงศ์ประเสริฐศรี จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับจำเลยข้อหานี้วันละ 10,000 บาทชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท โดยจำเลยมีเจตนาก่อสร้างอาคารที่ผิดแผนผังแบบแปลน และให้อาคารนั้นยังคงอยู่ต่อไป ทั้งจำเลยได้รับคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง คำสั่งให้แก้ไขคำสั่งให้รื้อถอนในวันเดียวกันและฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งวันเดียวกัน เห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยสามารถแยกจากการกระทำและเจตนาออกจากกันได้ในแต่ละฐานความผิด กล่าวคือ เมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแผนผังบริเวณแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตก็เป็นความผิดกรรมหนึ่ง ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง แล้วจำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยทำการก่อสร้างต่อไป ย่อมเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง และในส่วนที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9หรือมาตรา 10 เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารนั้นอีกครั้งหนึ่งตามมาตรา 40 วรรคสอง และมาตรา 42 วรรคหนึ่งและหากจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งไม่รื้อถอนก็เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด 3 กระทงต่างกรรมกัน หาใช้เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทไม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษจำเลยสำหรับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคาร เมื่อรวมโทษ 3 กระทงแล้วจำคุกจำเลย 6 เดือน และปรับเป็นเงินทั้งหมด 890,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share