คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนาที่จะหย่าขาดกับโจทก์ไม่มีเจตนาที่จะให้การจดทะเบียนการหย่าและหนังสือสัญญาหย่ามีผลผูกพันซึ่งโจทก์ก็ทราบถึงเจตนาอันแท้จริงของจำเลยดังกล่าวและโจทก์เองก็ไม่มีเจตนาที่จะหย่าขาดกับจำเลย การจดทะเบียนหย่าและหนังสือสัญญาหย่าตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 117 นั้น เป็นฎีกานอกประเด็นจากที่จำเลยให้การต่อสู้คดีจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้ยกบุตรผู้เยาว์ของโจทก์และจำเลยให้เป็นบุตรบุญธรรมของ ก. สามีใหม่ของโจทก์ อำนาจปกครองบุตรจึงตกแก่ ก. ผู้รับบุตรบุญธรรม โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตามฟ้อง และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องดังฎีกาของจำเลยหรือไม่นี้ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้จำเลยก็หยิบยกขึ้นอ้างอิงปัญหานี้ในชั้นฎีกาได้ โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากัน โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง ณ. บุตรผู้เยาว์แก่โจทก์เดือนละ10,000 บาท แล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามสัญญา ดังนี้ แม้ว่าต่อมาโจทก์จะได้ยกเด็กหญิง ณ. ให้เป็นบุตรบุญธรรมของ ก. สามีใหม่ของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่า ก. จดทะเบียนรับเด็กหญิง ณ.เป็นบุตรบุญธรรมภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว อีกทั้งบุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/28 ด้วย การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวหามีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามจำเลยให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาหย่า จำเลยได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ยอมชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้แก่โจทก์ตามหนังสือทวงถามถือได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 1 คนคือเด็กหญิงณัฐวัณน์ อิงคตานุวัฒน์ ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากัน และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ต่อหน้านายทะเบียนเขตพระโขนงว่าจำเลยจะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท และตกลงยกบ้านเลขที่ 53/7 ซอยศิริพจน์ ถนนสุขุมวิท 81 เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 65785 ซึ่งเป็นสินสมรสให้โจทก์ แล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 14 เดือน เป็นเงิน140,000 บาท และอีกเดือนละ 10,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าเด็กหญิงณัฐวัณน์จะมีอายุครบ 20 ปี และหรือบรรลุนิติภาวะ และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านหลังดังกล่าวให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยกับโจทก์จดทะเบียนหย่า และได้ทำสัญญาว่าจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านตามฟ้องให้โจทก์จริงแต่โจทก์ไม่เคยนัดให้จำเลยไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านแต่อย่างใดทั้งโฉนดที่ดินและทะเบียนบ้านก็อยู่ที่โจทก์ จำเลยจึงไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ได้ จำเลยกับโจทก์มิได้ตกลงกันแจ้งชัดว่าให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ และยังมิได้ตกลงจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้โจทก์ จำเลยมิได้กระทำการใดเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2528 จนกว่าเด็กหญิงณัฐวัณน์ อิงคตานุวัฒน์ จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะ และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 65785พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 53/7 ซอยศิริพจน์ สุขุมวิท 81เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะหย่าขาดกับโจทก์ ไม่มีเจตนาที่จะให้การจดทะเบียนการหย่าและหนังสือสัญญาหย่ามีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งโจทก์ทราบถึงเจตนาอันแท้จริงดังกล่าวของจำเลยและโจทก์เองก็ไม่มีเจตนาที่จะหย่าขาดกับจำเลย การจดทะเบียนหย่าและหนังสือสัญญาหย่าต้องตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 117 นั้น เห็นว่าเป็นฎีกานอกประเด็นจากที่จำเลยให้การต่อสู้คดี เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพิ่งทราบในภายหลังว่า เมื่อวันที่19 สิงหาคม 2530 (ที่ถูกวันที่ 18 มิถุนายน 2530) โจทก์ได้ยกเด็กหญิงณัฐวัณน์ ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากโจทก์กับจำเลยให้เป็นบุตรบุญธรรมของนายกิตติ มิตรศรัทธา สามีใหม่ของโจทก์ ปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฎีกา ดังนั้น นับแต่วันจดทะเบียนดังกล่าวอำนาจปกครองบุตรจึงตกแก่นายกิตติผู้รับบุตรบุญธรรม โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตามฟ้องและโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องดังฎีกาของจำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จำเลยก็อ้างอิงปัญหานี้ในชั้นฎีกาได้และศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามสำเนาทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมท้ายฎีกาของจำเลย ปรากฏว่านายกิตติจดทะเบียนรับเด็กหญิงณัฐวัณน์เป็นบุตรบุญธรรมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2530 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว อีกทั้งบุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/28 ด้วย ดังนั้นการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวหามีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ คงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปเพียงว่า จำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์หรือไม่ปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามจำเลยให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร และไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้โจทก์ตามหนังสือทวงถาม ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้
พิพากษายืน

Share