แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้ขับไล่จำเลยผู้เช่า กล่าวเพียงว่าจำเลยทำการค้าขาย โจทก์ย่อมนำสืบได้ว่า จำเลยทำการค้าในสถานที่เช่าอย่างไรเพียงใด ไม่เป็นการสืบนอกประเด็นแม้จะไม่ได้กล่าวในฟ้องว่า จำเลยทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ก็นำสืบได้ เมื่อจำเลยโต้เถียงขึ้นมา
ฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่มีคำขอนั้น ถ้าข้อความในฟ้องอุทธรณ์นั้นย่อมเข้าใจได้โดยปริยายว่า มีความมุ่งหมายให้ศาลอุทธรณ์บังคับตามคำฟ้องและคำขอบังคับเดิม ฟ้องอุทธรณ์นั้นย่อมใช้ได้
โจทก์จำเลยตกลงขึ้นค่าเช่ากันก่อนใช้ พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าปี 2489 และการขึ้นค่าเช่านี้ ไม่ต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าที่ใช้อยู่ในเวลานั้นคือ ฉบับปี 2486-2488 ดังนี้ จะยกเอา พระราชบัญญัติฉบับปี 2490 มาใช้บังคับไม่ได้ และแม้การค้างชำระค่าเช่าเกินกว่า 2 คราวติดๆ กันจะเกิดขึ้นภายหลังที่ใช้พระราชบัญญัติปี 2489 แล้ว พระราชบัญญัติปี 2490 ก็ไม่คุ้มครองในกรณีค้างชำระค่าเช่า เช่นนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของห้องแถว 5 คูหา ในอำเภอดุสิตจังหวัดพระนคร จำเลยได้เช่าห้องแถวดังกล่าวจากโจทก์ และเข้าครอบครองทำการค้าขายมาจนปัจจุบัน บัดนี้จำเลยค้างชำระค่าเช่าเดือนละ 120 บาท ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนเมษายน 2489 ขอให้ขับไล่จำเลย
จำเลยให้การต่อสู้มีใจความสำคัญว่า จำเลยเช่ามาแต่ พ.ศ. 2476 เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า เรื่องค่าเช่านั้นเดิมตกลงกันเดือนละ 27 บาท ต่อมาเพิ่มเป็น 45 บาท และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2489 เพิ่มเป็น 60 บาท จำเลยได้ชำระให้โจทก์ตลอดมามิได้ค้างและจำเลยไม่เคยชำระค่าเช่าให้โจทก์เดือนละ 120 บาท
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเช่าห้องของโจทก์ 5 คูหา นี้มาแต่ พ.ศ. 2476 ค่าเช่าเดือนละ 25 บาท ต่อมาเมษายน 2488 ได้ขึ้นค่าเช่าเป็นเดือนละ 45 บาท จำเลยได้ชำระค่าเช่าตามอัตรานี้มาจนถึง มกราคม 2489 สำหรับค่าเช่าเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน 2489 นั้น โจทก์อ้างว่าตกลงขึ้นเป็นเดือนละ 120 บาทจำเลยยอมและได้ชำระให้โจทก์มาแล้ว จำเลยเถียงว่า 3 เดือนนี้จำเลยได้ชำระค่าเช่าให้โจทก์เดือนละ 60 บาท ต่อมาโจทก์จะขึ้นค่าเช่าเป็น 120 บาท จำเลยจึงไม่ยอม ในปัญหาที่ว่าการเช่ารายนี้จะอยู่ในความคุ้มครองของพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าหรือไม่นั้นโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเข้าครอบครองทำการค้าขาย แล้วนำพยานมาสืบเป็นทำนองว่า จำเลยทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ อาศัยอยู่เป็นส่วนน้อย เท่าที่สืบมาก็น่าจะฟังว่าเป็นดังนั้น แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจากคำแถลงปิดสำนวนของโจทก์ข้อ 2 ว่า โจทก์ตีความฟ้องของโจทก์เองว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องมุ่งหมายที่จะให้ถือว่าทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ข้อความตามที่สืบมาจึงเป็นอันรับฟังไม่ได้จึงต้องฟังตามที่จำเลยต่อสู้ว่า ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ฉะนั้น การเช่านี้จึงอยู่ในความคุ้มครองของพระราชบัญญัติปี 2486-2488 การขึ้นค่าเช่าย่อมเป็นการต้องห้าม เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระตามอัตราค่าเช่าที่ตกลงกันใหม่ จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลยพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ห้องรายนี้โจทก์ได้ใช้ทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่อยู่ในความคุ้มครองแห่งพระราชบัญญัติปี 2486-2488 โจทก์ย่อมขึ้นค่าเช่าได้และเรื่องขึ้นค่าเช่าก็ฟังว่า จำเลยได้ตกลงยินยอมให้โจทก์ขึ้นค่าเช่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2489 เป็นเดือนละ 120 บาทจริง และการขึ้นค่าเช่านี้ตกลงกันก่อนวันใช้พระราชบัญญัติ ปี 2489 (พระราชบัญญัตินี้ใช้เมื่อ 12 มีนาคม 2489) จึงสมบูรณ์ เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระ เป็นการผิดนัดเกินกว่า 2 คราวติด ๆ กัน เข้าในข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติ ปี 2489 มาตรา 16(1) โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่ได้พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาข้อ 1 ของจำเลยที่ว่า โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทำการค้าขาย มิได้บรรยายว่า จำเลยทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ โจทก์จะสืบว่า จำเลยทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ไม่ได้ เป็นการสืบนอกประเด็นนั้น เห็นว่า โจทก์ย่อมมีสิทธิสืบได้ ว่าจำเลยทำการค้าในสถานที่เช่าอย่างไรเพียงใด มิใช่สืบนอกประเด็น เพราะความข้อนี้ แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในคำฟ้อง โจทก์ก็มีสิทธิสืบได้เมื่อจำเลยโต้เถียงขึ้นมา ส่วนข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ และในข้อขึ้นค่าเช่าเป็น 120 บาทนั้น ก็ฟังได้ว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าจริง
ส่วนฎีกาจำเลยที่ว่า อุทธรณ์โจทก์ไม่เป็นอุทธรณ์ตามกฎหมายเพราะไม่มีคำขอนั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ชอบแล้วว่า ข้อความในฟ้องอุทธรณ์นั้นย่อมเข้าใจได้โดยปริยายว่าโจทก์มีความมุ่งหมายให้ศาลอุทธรณ์บังคับตามคำฟ้องและคำขอบังคับเดิม
ในที่สุดจำเลยฎีกาว่า ควรได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติฉบับ 2490 ข้อนี้ปรากฏว่าการขึ้นค่าเช่าเกิดก่อนใช้พระราชบัญญัติฉบับ 2489 จึงยกพระราชบัญญัติฉบับ ปี 2490 ที่จำเลยอ้างมาใช้บังคับไม่ได้ และแม้การค้างชำระค่าเช่าจะเกิดภายหลังใช้พระราชบัญญัติ ปี 2489 พระราชบัญญัติ ปี 2490 ก็ไม่คุ้มครองในกรณีค้างชำระค่าเช่าเช่นนี้ จึงพิพากษายืน