คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2249/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สิทธิของโจทก์ตามประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่ตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510มาตรา73หาได้ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินที่อยู่ในเขตประทานบัตรด้วยไม่การปักป้ายหลักเขตของประทานบัตรรวมทั้งป้ายที่เขียนแสดงแนวเขตที่ประทานบัตรของโจทก์เป็นเพียงเครื่องหมายแสดงอาณาเขตให้เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าเขตประทานบัตรของโจทก์มีอยู่แค่ไหนเพียงใดเท่านั้นมิได้หมายความว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือเข้าครอบครองที่พิพาทและแม้โจทก์จะมีสิทธิในการเตรียมการทำเหมืองตามมาตรา58ก็เป็นเพียงสิทธิที่จะกระทำการต่างๆตามที่บัญญัติไว้เท่านั้นมิได้ทำให้ได้สิทธิครอบครองในเขตประทานบัตรด้วยเมื่อโจทก์ยังไม่ได้เป็นผู้ครอบครองที่พิพาทโจทก์ก็ย่อมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา362,365โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประทานบัตรจากรัฐบาลตามกฎหมายให้ทำเหมืองแร่ดีบุก ณ ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจำนวนหลายแปลง มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 1,000 ไร่ เฉพาะประทานบัตรที่เกิดกรณีพิพาทคดีนี้ คือ ประทานบัตรที่ 8634/12210,8649/12218 ทั้งสองแปลงออกให้ ณ วันที่ 13 กันยายน 2521มีอายุประทานบัตร 25 ปี สิ้นอายุประทานบัตรวันที่ 12 กันยายน 2546และประทานบัตรที่ 17516/12230 ออกให้ ณ วันที่ 14 กันยายน 2521มีอายุประทานบัตร 25 ปี สิ้นอายุประทานบัตรวันที่ 13 กันยายน 2546เมื่อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2528เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยกับพวกได้เข้าไปในที่ดินตามประทานบัตรที่ 8634/12210 ของโจทก์ทำการแผ้วถางตัดโค่นต้นไม้ปรับปรุงที่ดินและปลูกต้นยางพาราเป็นจำนวนเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน80 ตารางวา พร้อมกับปลูกสร้างที่พักอาศัยจำนวน 1 หลัง ต่อจากนั้นจำเลยกับพวกยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นของตนติดต่อตลอดมาจนถึงวันฟ้องอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ดินตามประทานบัตรดังกล่าวของโจทก์โดยปกติสุข เป็นการขัดขวางมิให้โจทก์ทำเหมืองแร่ในที่ดินดังกล่าว และเมื่อระหว่างวันที่1 กุมภาพันธ์ 2529 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยกับพวกได้เข้าไปในที่ดินตามประทานบัตรที่8649/12218 และ 17516/12230 ของโจทก์ ทำการแผ้วถางตัดโค่นต้นไม้ปรับปรุงที่ดินและปลูกต้นกาแฟและต้นมะม่วงหิมพานต์เป็นเนื้อที่จำนวน 6 ไร่ 3 งาน 63 ตารางวา ต่อจากนั้นจำเลยกับพวกยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นของตนตลอดมาจนถึงวันฟ้องอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ดินตามประทานบัตรของโจทก์โดยปกติสุข เป็นการขัดขวางมิให้โจทก์ทำเหมืองแร่ในที่ดินนั้นโจทก์ได้ห้ามปรามจำเลยหลายครั้งแล้ว แต่จำเลยมิได้เลิกเกี่ยวข้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 362, 365(2)(3)
ศาลชั้นต้น ไต่สวน มูลฟ้อง แล้ว เห็นว่า คดี มีมูล ให้ ประทับ ฟ้อง
จำเลย ให้การ ปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นผู้ถือประทานบัตรในที่พิพาทเลขที่ 8634/12210, 8649/12218และ 17516/12230 ให้ทำเหมืองแร่ดีบุก มีอายุประทานบัตรแปลงละ25 ปี โดยจะสิ้นอายุประทานบัตรในปี 2546 ทั้ง 3 แปลง จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาททั้ง 3 แปลง อ้างว่าเป็นที่ของจำเลยได้รับการยกให้จากนายชม เพ็ชรชู มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 73 บัญญัติว่า ผู้ถือประทานบัตรมีสิทธิในเขตเหมืองแร่ เฉพาะแต่ (1) ทำเหมืองและขายแร่ ฯลฯ (2) ปลูกสร้างอาคารหรือกระทำการอื่นเกี่ยวกับการทำเหมือง ฯลฯ (3) ใช้ที่ดินในเขตเหมืองแร่ ที่ขุดเอาแร่แล้วหรือที่มีแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดการทำเหมือง เพื่อเกษตรกรรมในระหว่างอายุประทานบัตร แต่ทั้งนี้เมื่อสิ้นอายุประทานบัตรแล้วมิให้ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง และ (4) นำคดีขึ้นสู่ศาลในกรณีที่มีผู้โต้แย้งหรือขัดขวางสิทธิในการทำเหมืองแร่ ศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิของโจทก์ตามประทานบัตรตามบทกฎหมายดังกล่าวมีเพียงสิทธิตามที่บัญญัติไว้นั้นเท่านั้น หาได้ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินที่อยู่ในเขตประทานบัตรด้วยไม่ และทั้งตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้เข้าครอบครองที่พิพาทแต่อย่างใด การปักป้ายหลักเขตของประทานบัตรรวมทั้งป้ายที่เขียนแสดงแนวเขตที่ประทานบัตรของโจทก์ ก็เป็นเพียงเครื่องหมายแสดงอาณาเขตให้เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าเขตประทานบัตรของโจทก์มีอยู่แค่ไหน เพียงใดเท่านั้นมิได้หมายความว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือเข้าครอบครองที่พิพาทข้อเท็จจริงกลับได้ความตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทมาตั้งแต่ปี 2529 ตลอดมา และที่ดินตามประทานบัตรในส่วนที่จำเลยบุกรุกนั้น โจทก์ยังมิได้เปิดทำเหมืองเลยเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้เข้าครอบครองที่พิพาทแล้ว ส่วนสิทธิของโจทก์ในการเตรียมการทำเหมืองแร่ เช่นการปลูกสร้างอาคารขุดทางน้ำ ฯลฯ ให้ถือว่าเป็นการทำเหมืองตามความในมาตรา 58แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 นั้น ก็เป็นเพียงสิทธิของโจทก์ที่จะกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ดังกล่าวเท่านั้น มิได้ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองในเขตประทานด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองที่พิพาท โจทก์ก็ย่อมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
สำหรับข้อความตาม มาตรา 73(4) ที่ว่า ผู้ถือประทานบัตรมีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลในกรณีที่มีผู้โต้แย้งหรือขัดขวางสิทธิในการทำเหมืองนั้น ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะดำเนินการนำคดีขึ้นสู่ศาลในกรณีอื่น ๆ ที่มิใช่ในความผิดฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง

Share