แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์เป็นข้าราชการได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลบุตรผู้เยาว์ซึ่งถูกทำละเมิดจากทางราชการแล้ว ก็ยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยผู้ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดอีกได้ เพราะสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินดังกล่าวจากทางราชการ เป็นสิทธิที่รัฐกำหนดให้แก่ข้าราชการ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลย
ในการละเมิดทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องค่าเสียหายอย่างใดได้บ้างมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444,445,และ 446 ซึ่งหาได้ให้สิทธิแก่บิดาที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งทุพพลภาพเพราะถูกกระทำละเมิดต่อไปในอนาคตไม่
ฟ้องเรียกค่าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งต้องทุพพลภาพเพราะถูกกระทำละเมิด แม้ทางพิจารณาโจทก์จะนำสืบเป็นทำนองขอเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่บุตรเสียความสามารถสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันและอนาคต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 ศาลก็จะบังคับให้ไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใดๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
หมายเหตุวรรคแรกวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่18/2519
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนายทวีเดช กสิศิลป์อายุ 18 ปี เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2512 นายทวีเดช กสิศิลป์ โดยสารรถประจำทางของจำเลยที่ 2 คันหมายเลข 38 จากบ้านเพื่อไปโรงเรียน รถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ถูกรถยนต์โดยสารประจำทางคันหมายเลข 104 ของจำเลยที่ 1 ชนเป็นเหตุให้นายทวีเดช กสิศิลป์ กระเด็นตกจากรถยนต์ ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องพิการทุพพลภาพตลอดไป ทั้งนี้เพราะความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถของจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นนายจ้างมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ และนายทวีเดชในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างของจำเลยทั้งสองได้กระทำไปในทางการที่จ้าง คือ ค่ารักษาพยาบาล 35,250 บาท ค่าใช้จ่ายในการเสียหายของนายทวีเดช 11,400 บาท ค่าที่โจทก์ต้องอุปการะเลี้ยงดูนายทวีเดชต่อไปในอนาคต 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 56,650 บาท โจทก์ให้ทนายความแจ้งให้จำเลยทราบและให้จำเลยมาติดต่อเพื่อบรรเทาความเสียหายจำเลยไม่มาติดต่อตกลงประการใด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การว่าคนขับรถจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินกว่าความเป็นจริงไกลต่อเหตุและไม่ใช่ความเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องได้ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2512 รถยนต์ของจำเลยที่ 2ได้ถูกรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ชน ได้รับความเสียหาย ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บหลายคน คนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในข้อหาว่าขับรถยนต์โดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะคนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2มิใช่เป็นฝ่ายประมาท โจทก์ไม่เสียหายมากดังที่กล่าวในฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย 43,900บาทให้โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1
วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ค่าห้องพิเศษของโรงพยาบาล 90 วันวันละ 60 บาท เป็นเงิน 5,400 บาท จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดง และโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้จากทางราชการแล้ว จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 อีกไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีนายแพทย์รัศมี วรรณิศร ผู้ตรวจรักษานายทวีเดชเป็นพยานว่านายทวีเดชเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 119 วันจึงออกจากโรงพยาบาล มิใช่โจทก์กล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ ควรเชื่อได้ว่าโจทก์ได้จ่ายไปจริง และแม้โจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการจะได้รับเงินจำนวนนี้จากทางราชการแล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 เพราะสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการเป็นสิทธิซึ่งรัฐกำหนดให้แก่ข้าราชการ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1
ค่าที่โจทก์ต้องเสียค่าเลี้ยงดูนายทวีเดชต่อไปในอนาคต 10,000 บาทจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ใช่ค่าเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องได้ตามกฎหมายและไกลต่อเหตุข้อนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ในฐานะบิดาจะต้องอุปการะเลี้ยงดูนายทวีเดชต่อไปในอนาคต เพราะเป็นบุคคลทุพพลภาพตลอดชีวิตต้องสูญเสียอนาคตที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานอาชีพที่ได้เล่าเรียนมาโดยสิ้นเชิง โจทก์ขอคิดค่าอุปการะเลี้ยงดูเพียงระยะเวลา 15 ปีในอัตราเดือนละ 800 บาท ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปเป็นเงิน 144,000 บาทในชั้นนี้โจทก์ขอคิดเพียง 10,000 บาท และในคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ระบุว่าค่าที่โจทก์ต้องอุปการะเลี้ยงดูนายทวีเดชต่อไปในอนาคต 10,000 บาท แสดงโดยชัดว่าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อการที่โจทก์จะต้องอุปการะเลี้ยงดูนายทวีเดชต่อไปในอนาคต ศาลฎีกาเห็นว่าในการละเมิดโดยทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องค่าเสียหายอย่างใดได้บ้าง มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444, 445 และ 446 ซึ่งหาได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในฐานะบิดาของนายทวีเดชที่จะเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อการที่โจทก์จะต้องอุปการะเลี้ยงดูนายทวีเดชต่อไปในอนาคตไม่ ฉะนั้น แม้ทางพิจารณาโจทก์จะนำสืบว่าเดี๋ยวนี้แขนซ้ายของนายทวีเดชยังชาอยู่ และคอยังแข็ง หากหันคอมาก ๆ มีอาการปวดเจ็บ แพทย์ว่ามีโอกาสหาย แต่หลายปี กี่ปีแพทย์ไม่ได้บอกมีโอกาสจะหายน้อย โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่นายทวีเดชทุพพลภาพนี้ 10,000บาท เป็นทำนองว่าโจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่นายทวีเดชเสียความสามารถสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 ศาลก็จะบังคับให้ไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 20,080 บาท