คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2939/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดได้ชำระราคาครบถ้วนและศาลมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนระงับการจำนอง – โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อ ทั้งโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้รับชำระหนี้จากเงินสุทธิที่ได้รับจากการขายทอดตลาดไปแล้ว ดังนี้ ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วจำเลยจึงไม่มีสิทธิ ร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีที่เสร็จแล้วได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเพื่อปรับปรุงฉบับเดิมขึ้นใหม่ก็เพราะจำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านการคิดคำนวณดอกเบี้ยของเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีคิดคำนวณดอกเบี้ยใหม่ แม้จะทำให้ตัวเลขทางบัญชีไม่ตรงกับบัญชีแสดงการรับจ่ายเดิมเพราะการคิดคำนวณดอกเบี้ยผิดพลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเอง หาใช่เป็นเรื่องที่ทำให้การบังคับคดียังไม่เสร็จลงไม่ เพราะไม่มีการกระทำอย่างใดในการที่จะบังคับเกี่ยวกับที่ดินของจำเลยต่อไปอีก
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 316 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องจัดทำบัญชีในการปฏิบัติงานบังคับคดี และมาตรา 320 ก็เป็นเรื่องที่กำหนดให้เฉพาะเจ้าหนี้เท่านั้นที่จะยื่นคำแถลงคัดค้านบัญชีส่วนเฉลี่ยต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้บทบัญญัติสองมาตราดังกล่าวหาใช่เป็นเรื่องที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีซึ่งการบังคับคดีเสร็จลงแล้วได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้จำนวน 4,289,335.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีในต้นเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่จำนองแก่โจทก์คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 37379 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่11 ธันวาคม 2539 ในราคา 4,950,000 บาท และศาลชั้นต้นได้มีหนังสือลงวันที่ 3 มกราคม 2540 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานีให้โอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อไปแล้ว ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2540 ศาลชั้นต้นได้จ่ายเงินค่าขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้ส่งหมายแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบ จำเลยที่ 1ไม่มีโอกาสมาคัดค้าน โจทก์กับผู้ซื้อทรัพย์สมคบกันฉ้อฉลซื้อทรัพย์ในราคาถูก ความจริงแล้วทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จะขายได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 12,000,000 บาท ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด

โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

ในวันนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อการบังคับคดีเสร็จสิ้นแล้วจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองให้เพิกถอนคำสั่งรับคำร้องของจำเลยที่ 1 และมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

ระหว่างฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 37379 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2539 และศาลชั้นต้นมีหนังสือฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2540 แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี จดทะเบียนระงับการจำนองแล้วโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อ ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2540 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จัดทำบัญชีแสดงการรับ-จ่ายเสร็จและศาลชั้นต้นจ่ายเงินค่าขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2540 จำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 4สิงหาคม 2540 คัดค้านบัญชีแสดงการรับ-จ่าย และวันที่ 5 สิงหาคม2540 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอ้างว่าการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดและดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 ใหม่ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายครั้งที่ 1 เพื่อปรับปรุงบัญชีฉบับเดิมแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง หรือไม่เห็นว่า คดีนี้ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดได้ชำระราคาครบถ้วนและศาลมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนระงับการจำนอง – โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อแล้วเมื่อวันที่ 3 มกราคม2540 ทั้งโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้รับชำระหนี้จากเงินสุทธิที่ได้รับจากการขายทอดตลาดไปแล้วเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2540 ดังนั้นถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 5สิงหาคม 2540 คัดค้านการบังคับคดีขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินใหม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีที่เสร็จแล้วได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง

ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่าย ครั้งที่ 1 เพื่อปรับปรุงบัญชีฉบับเดิมแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 การบังคับคดีจึงยังไม่เสร็จลงเมื่อวันที่ 4เมษายน 2540 เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 316 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีรายละเอียดแสดงจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้ยึดหรือได้มาจากการจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา และมาตรา 320 ยังบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านบัญชีส่วนเฉลี่ยต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีอีกด้วย คำร้องคัดค้านของจำเลยที่ 1 จึงยื่นก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงนั้น เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายครั้งที่ 1 เพื่อปรับปรุงฉบับเดิมขึ้นใหม่แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 ก็เพราะจำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงคัดค้านการคิดคำนวณดอกเบี้ยของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีคิดคำนวณดอกเบี้ยใหม่ แม้จะทำให้ตัวเลขทางบัญชีไม่ตรงกับบัญชีแสดงการรับจ่ายเดิมเพราะการคิดคำนวณดอกเบี้ยผิดพลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเองก็หาใช่เป็นเรื่องที่ทำให้การบังคับคดียังไม่เสร็จลงดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่เพราะไม่มีการกระทำอย่างใดในการที่จะบังคับเกี่ยวกับที่ดินของจำเลยที่ 1ต่อไปอีกแล้ว การคิดคำนวณดอกเบี้ยในยอดหนี้ดังกล่าวหามีผลกระทบกระเทือนต่อการบังคับเอาแก่ที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ขายทอดตลาดไปแล้วไม่ ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 316ก็เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องจัดทำบัญชีในการปฏิบัติงานบังคับคดี และมาตรา 320 ก็เป็นเรื่องที่กำหนดให้เฉพาะเจ้าหนี้เท่านั้นที่จะยื่นคำแถลงคัดค้านบัญชี ส่วนเฉลี่ยต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ บทบัญญัติสองมาตราดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 1กล่าวอ้างมาในฎีกาจึงหาใช่เป็นเรื่องที่จะทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีซึ่งการบังคับคดีเสร็จลงแล้วได้

พิพากษายืน

Share