แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทำนิติกรรมยกที่บ้าน ที่สวนให้กัน โดยทำเป็นหนังสือกันเองมิได้จะเบียนนั้น การให้ย่อมไม่สมบูรณ์ผู้รับครอบครองยังไม่ถึง 10 ปี หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ ผู้ให้ฟ้องเรียกคืนได้
โจทก์ฟ้องว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกับจำเลย ขอให้ศาลแบ่งจำเลยไม่ปฏิเสธข้อนี้ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้ร่วมกันจดทะเบียนมรดกที่รายนี้แล้ว จำเลยจะเถียงว่าเป็นมรดกยังไม่ได้แบ่งกันไม่ได้
ย่อยาว
ได้ความว่า ที่พิพาทเป็นของนางเลี้ยงฮั้ง บิดาโจทก์จำเลย นางเลี้ยงฮั้งตาย โจทก์จำเลยไปยื่นคำร้องต่ออำเภอ ขอให้โอนทะเบียนลงชื่อโจทก์ จำเลยเป็นเจ้าของทางอำเภอจดทะเบียนโอนมรดกลงชื่อโจทก์จำเลยเป็นเจ้าของ ต่อมาปรากฏว่ามีหนังสือทำกันเอง ซึ่งโจทก์ลงชื่อให้จำเลยไว้มีใจความว่า โจทก์ตกลงสละที่พิพาทให้แก่จำเลย
บัดนี้โจทก์มาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จำเลยร่วมกัน ให้จำเลยแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์สละมรดกให้จำเลยแล้ว เจ้ามรดกตายเกินปีแล้ว โจทก์ฟ้องขอแบ่งไม่ได้
ศษลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อโจทก์จำเลยร้องขอรับมรดกเจ้าพนักงานได้จดทะเบียนโอนมรดกใส่ขื่อโจทก์จำเลยแล้ว ที่พิพาทก็ตกเป็นของโจทก์จำเลย หนังสือสละมรดกที่จำเลยอ้างไม่ใช่หนังสือสละมรดก เพราะที่พิพาทไม่ใช่มรดกแล้ว แต่หนังสือนั้นมีลักษณะเป็นสัญญให้ แต่ไม่ได้จดทะเบียน จึงไม่สมบูรณ์ พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันให้แบ่งคนละส่วน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จำเลยร่วมกัน จำเลยมิได้ปฏิเสธข้อต่อสู้คำฟ้องนี้ ทั้งปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้ร่วมกันไปร้องขอรับมรดกจนพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนลงชื่อโจทก์จำเลยแล้ว จึงต้องฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์จำเลยร่วมกัน จำเลยจะโต้เถียงว่าเป็นทรพัย์มรดกยังไม่ได้แบ่งปันกันนั้น เถียงไม่ขึ้น
ส่วนที่ว่าโจทก์ทำนิติกรรมยกที่พิพาทให้จำเลยแล้ว ก็ปรากฏว่าที่พิพาทเป็นที่บ้านสวน เมื่อไม่จดทะเบียน ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๕๒๕-๔๕๖ การให้นี้จึงไม่สมบูรณ์ จำเลยครอบครองที่พิพาทไม่ถึง ๑๐ ปี หาได้กรรมสิทธิ์ไม่
จึงพิพากษายืน