คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 897/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล โดยจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำนองให้โจทก์ เมื่อจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาแล้ว แม้ภายหลังโจทก์ขายที่ดินดังกล่าวให้บุคคลอื่นได้ราคาสูงกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยค้างชำระ จำเลยจะขอให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินส่วนที่เกินจำนวนหนี้แก่จำเลยไม่ได้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 732 ใช้บังคับเฉพาะกรณีขายทอดตลาดบังคับจำนอง ไม่ใช้บังคับกรณีทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยชำระเงิน 686,562.50 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2434,2435 และ 2436 ตำบลห้วยขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมซึ่งจำเลยจดทะเบียนจำนองไว้กับโจทก์ขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ต่อมา โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลชั้นต้นโดยจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำนองทั้งสามแปลงชำระหนี้ให้โจทก์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินทั้งสามแปลงให้ผู้มีชื่อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้มีชื่อ
จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์ได้นำที่ดินทั้งสามแปลงไปขายให้ผู้มีชื่อเป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์จึงต้องคืนเงินส่วนที่เกินกว่าหนี้สินที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ให้จำเลย ขอให้ศาลเรียกโจทก์มาสอบถามและบังคับให้คืนเงินส่วนที่โจทก์ขายที่ดินได้เกินกว่าจำนวนหนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ต้องคืนเงินค่าขายที่ดินส่วนที่เกินกว่าหนี้สินให้แก่จำเลยหรือไม่ ในประเด็นนี้จำเลยอ้างว่า แม้จะตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว โจทก์และจำเลยยังมีเจตนาปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 732 อีกส่วนหนึ่ง พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ปรากฏข้อความดังที่จำเลยอ้างทั้งกรณีของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 732ซึ่งถ้าผู้รับจำนองบังคับจำนองโดยการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินสุทธิเท่าใด หลังจากใช้แก่ผู้รับจำนองแล้วมีเงินเหลือเท่าใดก็ให้ส่งมอบแก่ผู้จำนองนั้น ก็เป็นการบังคับจำนองมิใช่กรณีที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างกัน จำเลยจะอ้างบทมาตราดังกล่าวให้โจทก์คืนเงินส่วนที่เกินให้จำเลยไม่ได้ และเมื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามโฉนดดังกล่าวโอนเป็นของโจทก์แล้วโจทก์มีอำนาจจำหน่ายทรัพย์สินของตนได้โดยอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์โดยไม่มีข้อจำกัดใด หาใช่เป็นการใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินอันมีเงื่อนไข ดังที่จำเลยฎีกาไม่
พิพากษายืน

Share