คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 897/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้องรายที่ 2 เป็นเจ้าหนี้จำเลยซึ่งได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว ผู้ร้องรายที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยโดยค้างชำระเงินค่าหุ้น ได้ยื่นคำขอลดหนี้ของตนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งได้มีการนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาคำขอนี้ หนี้รายนี้เป็นหนี้ซึ่งผู้ร้องรายที่ 1 ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว การที่ผู้ร้องรายที่ 1 ขอลดหนี้นั้น หากผลของการประชุมเจ้าหนี้เป็นผลดีแก่ผู้ร้องรายที่ 1 เช่น ได้รับลดจำนวนหนี้หรืองดดอกเบี้ยทรัพย์สินของจำเลยส่วนที่ลดไปก็เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องรายที่ 1 เป็นส่วนตัวแต่ผู้เดียว เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องรายที่ 1 เป็นผู้มีหุ้นส่วนกับผู้ร้องรายที่ 2 และผู้ร้องรายที่ 2 จะได้รับผลประโยชน์จากทรัพย์สินของจำเลยโดยประการใดแล้ว ผลของการประชุมเจ้าหนี้ไม่ว่าจะมีมติเป็นอย่างใด ย่อมไม่ทำให้ผู้ร้องรายที่ 2 หรือผู้มีหุ้นส่วนกับผู้ร้องรายที่ 2 ได้รับผลประโยชน์จากทรัพย์สินของจำเลยโดยตรงหรือโดยอ้อมนอกจากที่ควรได้รับตามส่วนในฐานะเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ที่ผู้ร้องรายที่ 2 เคยเข้าควบคุมดำเนินกิจการของจำเลยและรับเงินแทนจำเลย ผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทจำเลยส่วนใหญ่เป็นพนักงานและกรรมการของผู้ร้องรายที่ 2 ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องรายที่ 2 กับจำเลย แม้ผู้ร้องรายที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลย กิจการนั้น ๆ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ร้องรายที่ 1 ในฐานะส่วนตัวแม้ผู้ร้องรายที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ซึ่งมีจำนวนหนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหนี้ทั้งหมดและแสดงท่าทีจะลงคะแนนเสียงให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องรายที่ 1 ก็เป็นเรื่องของเจ้าหนี้จะใช้สิทธิของตนได้ตามความสมัครใจ จะถือเป็นเหตุว่า เจ้าหนี้ผู้นั้นได้รับผลประโยชน์จากทรัพย์สินของจำเลยหาได้ไม่ ดังนี้ ผู้ร้องรายที่ 2 จึงไม่ต้องห้ามออกเสียงลงคะแนนในข้อปรึกษาของที่ประชุมเจ้าหนี้ในเรื่องนี้ตามมาตรา 34 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ก็มีอำนาจที่จะยื่นคำขอต่อศาลห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ตามมาตรา 36 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ผู้ร้องรายที่ 2 งดออกเสียง ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องผู้มีส่วนได้เสียย่อมยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ภายในกำหนด การที่ผู้ร้องทั้งสองมิได้โต้แย้งก็ดี ผู้ร้องรายที่1 ได้ยื่นคำขอใหม่ก็ดี มิได้มีบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามไม่ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาล ศาลย่อมมีคำสั่งให้ยกเลิกมติและคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการพิจารณาคำขอลดหนี้ของผู้ร้องรายที่ 1 ที่ประชุมไปนั้นให้จัดประชุมใหม่ และให้ผู้ร้องรายที่ 2 มีสิทธิลงคะแนนได้พลางก่อนโดยมีเงื่อนไขตามมาตรา 35

ย่อยาว

ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องว่า คดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย คดีอยู่ในระหว่างดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินผู้ร้องรายที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยค้างชำระเงินค่าหุ้นจำเลยอยู่750,000 บาท ได้ยื่นคำขอลดหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยขอชำระเพียง 100,000 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อประชุมปรึกษาคำขอนี้ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คัดค้านไม่ให้ผู้ร้องรายที่ 2 ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิออกเสียง อ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรงหรือโดยอ้อม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นด้วย สั่งให้ผู้ร้องรายที่ 2 งดออกเสียง ซึ่งเป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลสั่งยกเลิกมติและคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอของผู้ร้องรายที่ 1 เสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาและมีมติใหม่และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตให้ผู้ร้องรายที่ 2 มีสิทธิลงคะแนนเสียง

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องรายที่ 2เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่มีจำนวนหนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของหนี้ทั้งหมดและมีส่วนได้เสียกับจำเลยและผู้ร้องรายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทจำเลยตามพฤติการณ์แสดงว่า ผู้ร้องรายที่ 2 จะลงคะแนนเสียงให้ผู้ร้องรายที่ 1ได้ลดหนี้ ซึ่งเป็นผลเสียแก่กองทรัพย์สินของจำเลยและเจ้าหนี้รายอื่น คำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบแล้ว และหลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติไม่รับข้อเสนอขอลดหนี้ของผู้ร้องรายที่ 1 ผู้ร้องรายที่ 1 ได้ยื่นข้อเสนอใหม่ แสดงว่ายินยอมรับมติเดิม ข้อเสนอเดิมจึงเสร็จสิ้นไปแล้วผู้ร้องรายที่ 1 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกมติและคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในการพิจารณาคำขอลดหนี้ของผู้ร้องรายที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 8 ทั้งหมด ให้จัดประชุมใหม่ และให้ผู้ร้องรายที่ 2มีสิทธิลงคะแนนได้พลางก่อนโดยมีเงื่อนไขตามมาตรา 35

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง

ผู้ร้องทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เนื่องมาจากผู้ร้องรายที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยผู้ล้มละลาย ในจำนวนค่าหุ้นของบริษัทจำเลยที่ค้างชำระอยู่750,000 บาท เป็นหนี้ที่ผู้ร้องรายที่ 1 ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว การที่ผู้ร้องรายที่ 1 ยื่นคำขอลดจำนวนหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น หากผลของการประชุมเจ้าหนี้เกี่ยวกับการพิจารณาคำขอนี้เป็นผลดีแก่ผู้ร้องรายที่ 1 เช่น มีมติให้ลดจำนวนหนี้ หรืองดดอกเบี้ย ทรัพย์สินของจำเลยส่วนที่ลดไปก็เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องรายที่ 1 เป็นส่วนตัวแต่ผู้เดียว เมื่อตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองและคำคัดค้านของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องรายที่ 1 เป็นผู้มีหุ้นส่วนกับผู้ร้องรายที่ 2 และผู้ร้องรายที่ 2 จะได้รับผลประโยชน์จากทรัพย์สินของจำเลยโดยประการใดแล้ว ผลของการประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าว ไม่ว่าจะมีมติเป็นอย่างใดย่อมไม่ทำให้ผู้ร้องรายที่ 2 หรือผู้มีหุ้นส่วนกับผู้ร้องรายที่ 2 ได้รับผลประโยชน์จากทรัพย์สินของจำเลยโดยตรงหรือโดยอ้อม นอกจากที่ควรได้รับตามส่วนในฐานะเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ข้อที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างว่าผู้ร้องรายที่ 2 เคยเข้าควบคุมดำเนินกิจการของจำเลยและรับเงินแทนจำเลยก็ดี ผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทจำเลยส่วนใหญ่เป็นพนักงานและกรรมการของผู้ร้องรายที่ 2 ก็ดี เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องรายที่ 2 กับจำเลย แม้ผู้ร้องรายที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยกิจการนั้น ๆ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ร้องรายที่ 1 ในฐานะส่วนตัวพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างอีกประการหนึ่งว่า ผู้ร้องรายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีจำนวนหนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหนี้ทั้งหมดได้แสดงท่าทีจะลงคะแนนเสียงให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องรายที่ 1 นั้น ก็เป็นเรื่องของเจ้าหนี้จะใช้สิทธิของตนได้ตามความสมัครใจ จะถือเป็นเหตุว่าเจ้าหนี้ผู้นั้นได้รับผลประโยชน์จากทรัพย์สินของจำเลยหาได้ไม่ ดังนี้ เห็นว่าผู้ร้องรายที่ 2 ไม่ต้องห้ามในการออกเสียงลงคะแนนในข้อปรึกษาของที่ประชุมเจ้าหนี้ในเรื่องนี้ ตามมาตรา 34 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 อนึ่ง หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีอำนาจที่จะยื่นคำขอต่อศาลห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ตามมาตรา 36 อยู่แล้ว ฉะนั้นคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ผู้ร้องรายที่ 2 งดออกเสียงทั้งหมด ในการประชุมเจ้าหนี้ที่พิจารณาคำขอลดจำนวนหนี้ของผู้ร้องรายที่ 1 จึงไม่ถูกต้อง ผู้มีส่วนได้เสียย่อมยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ภายในกำหนด การที่ผู้ร้องทั้งสองมิได้โต้แย้งไว้ก็ดี ผู้ร้องรายที่ 1 ได้ยื่นคำขอใหม่ก็ดี มิได้มีบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามไม่ให้ ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาล

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

Share