คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความรับผิดของจำเลยต่อพนักงานสอบสวนโจทก์ในคดีนี้เกิดขึ้นจากสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาตามสัญญาประกันที่จำเลยได้กระทำไว้กับโจทก์สัญญาดังกล่าวมีผลบังคับกันได้โดยสมบูรณ์เพียงใดหรือไม่ย่อมต้องพิจารณาจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญานั้นเมื่อได้ความว่าป. ผู้ต้องหาถูกจับกุมในข้อหาออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเป็นเงิน60,000บาทและตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2497มาตรา5(2)ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่196ลงวันที่8สิงหาคม2515ข้อ1อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ได้ระบุให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือหลักประกันไม่เกินจำนวนเงินตามเช็คดังนั้นการที่จำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากความควบคุมของโจทก์ตามสัญญาประกันโดยสัญญาว่าจะนำตัวผู้ต้องหาส่งให้โจทก์ตามกำหนดนัดถ้าผิดสัญญายินยอมใช้เงิน60,000บาทซึ่งไม่เกินจำนวนเงินตามเช็คที่ผู้ต้องหาสั่งจ่ายสัญญาประกันจึงชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญานั้นและมีผลบังคับกันได้โดยสมบูรณ์แม้ว่าหลังจากที่จำเลยได้ทำสัญญาประกันกับโจทก์ดังกล่าวแล้วจะได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534ออกมาใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2497และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่196ลงวันที่8สิงหาคม2515และบัญญัติให้พนักงานสอบสวนพนักงานอัยการหรือศาลสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยมีประกันแต่ไม่มีหลักประกันหรือมีประกันและหลักประกันไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนเงินตามเช็คก็ตามก็ไม่อาจนำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติ ดังกล่าวมาใช้บังคับได้เพราะการที่จะนำบทบัญญัติของกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา3มาใช้บังคับในฐานกฎหมายที่เป็นคุณได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่นำมาใช้บังคับแก่ความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำความผิดเท่านั้นจะนำมาใช้บังคับแก่ความรับผิดของจำเลยตามสัญญาประกันซึ่งเป็นความรับผิดทางแพ่งหาได้ไม่ การฟ้องบังคับให้ผู้ประกันชำระเงินตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คมิใช่เป็นการฟ้องเรียกเงินตามเช็คจึงไม่อยู่ในบังคับของอายุความในการฟ้องเรียกเงินตามเช็คเมื่อการฟ้องบังคับให้ผู้ประกันใช้เงินตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิม(มาตรา193/30ที่ได้ตรวจชำระใหม่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาและต้องร่วมกันรับผิดใช้เงินจำนวน 60,000 บาทตามสัญญาแก่โจทก์โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองนำเงินจำนวนดังกล่าวชำระให้โจทก์แล้วจำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน69,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากโจทก์ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาหรือยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ และหากจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 กับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัว จำเลยทั้งสองมิได้ผิดสัญญาประกันเพราะผู้ต้องหาได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับผู้เสียหายแล้ว และผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาอีกต่อไปจำเลยทั้งสองจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ที่จะต้องนำผู้ต้องหามามอบให้โจทก์หากจำเลยผิดสัญญาประกันก็ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 20,000 บาทเนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 บัญญัติเป็นคุณแก่จำเลยโดยระบุว่าในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินั้นให้ใช้หลักประกันตัวผู้ต้องหาเพียงจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนเงินตามเช็คเท่านั้นฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาคือตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2533ทั้งฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ก็เป็นฟ้องเคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 2มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญา และพิพากษาให้จำเลยที่ 1ชำระเงินจำนวน 60,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จโดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องไม่เกิน 9,000 บาท ให้จำเลยที่ 1ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาทยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับคืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาแก่จำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์เพียง 20,000 บาท คือหนึ่งในสามของจำนวนยอดเงินที่ระบุสั่งจ่ายในเช็ค เพราะหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาแล้วได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ออกใช้โดยพระราชบัญญัติ ดังกล่าวบัญญัติว่าการประกันตัวผู้ต้องหาในคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินั้นให้ใช้หลักประกันเพียงหนึ่งในสามของจำนวนเงินตามเช็คเท่านั้น จึงต้องใช้กฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวโดยต้องลดหลักประกันตัวผู้ต้องหาลงเหลือเพียงหนึ่งในสามของจำนวนเงินตามเช็คตามกฎหมายที่เป็นคุณโดยปริยาย นั้น เห็นว่า ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในคดีนี้เกิดขึ้นจากสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาตามสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.6 ที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไว้กับโจทก์สัญญาดังกล่าวมีผลบังคับกันได้โดยสมบูรณ์เพียงใดหรือไม่ย่อมต้องพิจารณาจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญานั้น เมื่อได้ความว่านางเปรมปรีย์ผู้ต้องหาถูกจับกุมในข้อหาออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเป็นเงิน 60,000 บาท ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 5(2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 196 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2515 ข้อ 1 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ได้ระบุให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือหลักประกันไม่เกินจำนวนเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากความควบคุมของโจทก์ตามสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.6 โดยสัญญาว่าจะนำตัวผู้ต้องหาส่งให้โจทก์ตามกำหนดนัด ถ้าผิดสัญญายินยอมใช้เงิน 60,000 บาทซึ่งไม่เกินจำนวนเงินตามเช็คที่ผู้ต้องหาสั่งจ่าย สัญญาประกันเอกสารหมาย จ.6 จึงชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญานั้นและมีผลบังคับกันได้โดยสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่นำผู้ต้องหาส่งให้โจทก์ตามกำหนดนัด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ให้แก่โจทก์ แม้หลังจากที่จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.6 กับโจทก์ดังกล่าวแล้วได้มีพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534ออกมาใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2515 ซึ่งบัญญัติให้พนักงานสอบสวนพนักงานอัยการ หรือศาลสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยมีประกันแต่ไม่มีหลักประกัน หรือมีประกันและหลักประกันไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนเงินตามเช็ค ก็ไม่อาจนำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประกันเอกสารหมายจ.6 ลดลงเหลือเพียงไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนเงินตามเช็คคือไม่เกิน 20,000 บาท ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่นำตัวผู้ต้องหาส่งให้โจทก์ตามกำหนดนัดตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกานั้นได้ เพราะการที่จะนำบทบัญญัติของกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 มาใช้บังคับในฐานะกฎหมายที่เป็นคุณได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่นำมาใช้บังคับแก่ความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำความผิดเท่านั้น จะนำมาใช้บังคับแก่ความผิดของจำเลยตามสัญญาประกันซึ่งเป็นความรับผิดทางแพ่งหาได้ไม่
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมูลหนี้คดีนี้เกิดจากการผิดสัญญาประกันผู้ต้องหาเกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค การฟ้องให้ชำระเงินตามเช็คมีอายุความเพียง1 ปี การผิดสัญญาประกันผู้ต้องหาก็ต้องถืออายุความ 1 ปีเช่นเดียวกันมิใช่มีอายุความ 10 ปี นั้น เห็นว่าการฟ้องบังคับให้ผู้ประกันชำระเงินตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มิใช่เป็นการฟ้องเรียกเงินตามเช็ค จึงไม่อยู่ในบังคับของอายุความในการฟ้องเรียกเงินตามเช็ค เมื่อการฟ้องบังคับให้ผู้ประกันใช้เงินตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม(มาตรา 193/30 ที่ได้ตรวจชำระใหม่)
พิพากษายืน

Share