คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดสงขลา ได้มีการจัดตั้งแผนกคดีภาษีอากรขึ้นในศาลแพ่ง ซึ่งมีอำนาจและเขตอำนาจเช่นเดียวกับศาลภาษีอากรกลาง แต่คดีนี้โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินกลับคืนมาเป็นมรดกของ น. ที่ค้างชำระค่าภาษีอากรอยู่แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดีภาษีอากรของศาลแพ่งตามมาตรา31 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 10 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวศาลจังหวัดสงขลารับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายนิพัทธ์ จิระนคร ได้ถูกเจ้าพนักงานประเมินประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2514ถึง 2520 พร้อมเงินเพิ่ม เบี้ยปรับ และภาษีเทศบาล นายนิพัทธ์ได้รับแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้วได้ผ่อนชำระเงินภาษีให้แก่โจทก์หลายครั้ง ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2522 นายนิพัทธ์ถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 ในฐานะภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดกจึงต้องรับผิดชำระเงินภาษีดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และภาษีเทศบาลจากจำนวนภาษีที่ค้างตั้งแต่วันที่ 16ธันวาคม 2520 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2529 รวมค่าภาษีทั้งสิ้น1,467,832.60 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์ของนายนิพัทธ์ขายทอดตลาด ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน2526 จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิไม่สุจริต จงใจโอนที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953 เฉพาะส่วนของนายนิพัทธ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคาต่ำกว่าราคาปานกลางของที่ดิน โดยจำเลยทั้งสองรู้ดีว่านายนิพัทธ์เป็นหนี้ภาษีการค้าโจทก์อยู่ และมีเจตนาไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีดังกล่าว ทั้งนายนิพัทธ์ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ค่าภาษีได้อีก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินอันเป็นการฉ้อฉลของจำเลยทั้งสอง ให้ที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953 กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกของนายนิพัทธ์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมโอนให้ถือคำสั่งศาลแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953 ระหว่างจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ยกคำฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในอายุความ คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้โจทก์ทั้งหมดและคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้จำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลจังหวัดสงขลาหรืออยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดีภาษีอากรของศาลแพ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2529 ได้จัดตั้งแผนกคดีภาษีอากรขึ้นในศาลแพ่ง โดยเปิดทำการเมื่อวันที่ 25 มีนาคม2529 และแผนกคดีภาษีอากรของศาลแพ่งมีอำนาจและเขตอำนาจเช่นเดียวกับศาลภาษีอากรกลางซึ่งเปิดทำการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2529 ก็ตามแต่คดีนี้โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953 กลับคืนมาเป็นมรดกของนายนิพัทธ์ที่ค้างชำระหนี้ค่าภาษีอากรอยู่แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดีภาษีอากรของศาลแพ่ง ตามมาตรา 31 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 10 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลจังหวัดสงขลารับฟ้องคดีนี้ของโจทก์ไว้พิจารณาชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share