แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า “KLOSTER” และ “คลอสเตอร์” ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย จำเลยมีสิทธิใช้ตราบเท่าที่บริษัท ท. ยังมีสิทธิผลิตเบียร์คลอสเตอร์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และเมื่อสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลงโดยการบอกเลิกสัญญาของโจทก์โดยชอบเนื่องจากบริษัท ท. มีหนี้สินจำนวนมากอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ จำเลยจึงต้องระงับการใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคลอสเตอร์ของโจทก์ตั้งแต่วันถัดจากวันที่บอกเลิกสัญญา การที่จำเลยยังคงใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลังการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ที่โจทก์มีหนังสือห้ามจำเลยใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “คลอสเตอร์” โดยอ้างว่าจำเลยละเมิดสิทธิโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยชอบ
การดำเนินการของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นการใช้ดุลพินิจบริหารจัดการบริษัทที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการไปตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งคู่ความทุกฝ่ายมีโอกาสโต้แย้งคัดค้านในกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว หมวด 3/1 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มาตรา 90/1 ถึง 90/90 ได้โดยชอบอยู่แล้ว จนคดีในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการยุติไปแล้วตามคำสั่งฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง ถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อสมคบกันครอบงำกิจการของจำเลยโดยไม่สุจริต
ป.พ.พ. มาตรา 18 ให้สิทธิโจทก์ร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์เป็นของจำเลยเท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยได้ คำขอบังคับของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคำขอบังคับที่ไม่อาจทำได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลย โดยไม่ใช้คำว่า “KLOSTER” และ/หรือ “คลอสเตอร์” เป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของจำเลยอีกต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยใช้ยื่นจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องใด ๆ กับชื่อและเครื่องหมายการค้า “KLOSTER” และ “คลอสเตอร์” ของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์ และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ลูกจ้าง 21,270,192 บาท ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่ปี 2531 ถึงปี 2543 จำนวน 1,222,122,822 บาท ค่าขาดประโยชน์ที่พึงได้จากการเป็นตัวแทนจำหน่ายจนถึงเดือนเมษายน 2558 เป็นเวลา 14 ปี 8 เดือน 7,333,333,333.26 บาท ค่าขาดกำไรจากการได้รับเบียร์ในช่วงเดือนสิงหาคม 2543 ไม่ครบ 2,362,925 บาท และ 1,663,871.84 บาท ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงในการประกอบธุรกิจ 2,300,000,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 10,880,753,144.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นคู่ความในคดี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้เรียกเฉพาะบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด ยกคำขอให้เรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอนุญาตให้เรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นคู่ความ โดยให้เรียกบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และเรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ว่า โจทก์ร่วมที่ 2
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งในทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีแทนจำเลย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า ให้จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทจำเลย มิให้ใช้คำว่า “KLOSTER” และ/หรือ “คลอสเตอร์” หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ห้ามจำเลยใช้ ยื่นจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องใด ๆ กับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “KLOSTER” และ/หรือ “คลอสเตอร์” หรือคำอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกันกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “KLOSTER” และ/หรือ “คลอสเตอร์” ของโจทก์ และยกฟ้องแย้งของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้รายละ 100,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยไม่ได้อุทธรณ์คดีในส่วนคำฟ้อง คงอุทธรณ์เฉพาะในส่วนฟ้องแย้งที่ขอให้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายที่อ้างว่าโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองร่วมกันสมคบกันเพื่อครอบงำกิจการของจำเลยไม่ให้จำเลยเป็นผู้แทนจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า โจทก์เป็นเจ้าของชื่อและเครื่องหมายการค้า “KLOSTER” และ “คลอสเตอร์” ซึ่งจดทะเบียนไว้ในประเทศไทยแล้ว จำเลยใช้ชื่อนิติบุคคลว่า บริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทโดยอาศัยข้อตกลงในสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ที่อนุญาตให้จำเลยใช้ชื่อดังกล่าวได้ สัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 เพราะการบอกเลิกสัญญาโดยชอบเนื่องจากบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด มีหนี้สินจำนวนมากและอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง การที่จำเลยยังคงใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลังสัญญาสิ้นสุดลงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องแย้งเพราะคดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองสมคบกันเพื่อครอบงำกิจการของจำเลยไม่ให้จำเลยเป็นผู้แทนจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยด้วยการกระทำการหลายประการดังข้ออ้างตามฟ้องแย้งชอบแล้วหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 92 จึงมีผู้บริหารที่มีอำนาจควบคุมดูแลกิจการชุดเดียวกัน เป็นบุคคลนามสกุลเตชะไพบูลย์ โดยนายวิมลหรือวิวิศน์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินกิจการของบริษัททั้งสองเพราะเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด มาตั้งแต่ปี 2522 เมื่อประมาณปี 2520 โจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในการผลิตเบียร์คลอสเตอร์ รวมทั้งใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าคลอสเตอร์กับบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และมีการต่ออายุสัญญาเรื่อยมาจนกระทั่งโจทก์บอกเลิกสัญญาทำให้สัญญาสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าว โจทก์ให้สิทธิบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ผลิตเบียร์คลอสเตอร์ของโจทก์และใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าคลอสเตอร์ของโจทก์ รวมทั้งให้สิทธิจำเลยเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าเบียร์ในชื่อคลอสเตอร์ได้ บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด และจำเลยต่างเป็นลูกค้าโจทก์ร่วมที่ 2 เรื่อยมา เดิมบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัดมีโรงงานซึ่งใช้ผลิตเบียร์คลอสเตอร์อยู่ที่เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้ขยายการผลิตโดยก่อสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดปทุมธานี และได้ขอวงเงินกู้ยืมจากโจทก์ร่วมที่ 2 ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ประสบปัญหาทางการเงินเพราะกู้ยืมเงินมาสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดปทุมธานีในจำนวนที่เกินความสามารถในการชำระหนี้คืนได้ และประเทศไทยเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด จึงไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 ได้จนถึงสิ้นปี 2541 บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด มีหนี้สินประเภทที่เจ้าหนี้สามารถเรียกคืนได้ทันที 3,198,079,652.51 บาท รายละเอียดตามงบการเงินของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ส่วนจำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ร่วมที่ 2 เรื่อยมา โดยในปี 2541 ได้รับวงเงินสินเชื่อจากโจทก์ร่วมที่ 2 รวม 3 บัญชี ได้แก่ 1. สินเชื่อเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 30,000,000 บาท 2. สินเชื่อประเภทเงินกู้โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินวงเงิน 12,000,000 บาท และ 3. สินเชื่อประเภทให้โจทก์ร่วมที่ 2 ออกหนังสือค้ำประกันแก่เจ้าหนี้ของจำเลยวงเงิน 500,000 บาท ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2541 จำเลยมีหนี้ตามบัญชีแรกต่อโจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 6,000,000 บาทเศษ ต่อมาโจทก์ร่วมที่ 2 ได้นำปัญหาเรื่องการชำระหนี้ของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด เข้าสู่โครงการพิจารณาเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้กิจการที่ประสบปัญหาทางการเงินซึ่งดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่เรียกว่าคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (คปน.) และสายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในการประชุมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ครั้งที่ 1/2542 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 โจทก์ร่วมที่ 2 บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ได้เข้าประชุมร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย เจ้าหนี้ของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ได้เสนอต่อที่ประชุมให้นำจำเลยเข้าร่วมในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด แต่คณะกรรมการไม่เห็นชอบด้วย จึงไม่มีการนำจำเลยเข้ามาร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ต่อมาในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2542 ได้มีการยกเลิกการเจรจาตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ต่อมาเบราเออไร เบค แอนด์ โค ผู้ถือหุ้นใหญ่ของโจทก์ติดต่อขอซื้อหุ้นในบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด และจำเลยในจำนวนไม่น้อยกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ จากครอบครัวเตชะไพบูลย์ แต่ครอบครัวเตชะไพบูลย์ไม่ตกลงด้วย ต่อมาในวันที่ 11 มกราคม 2543 โจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ 5/2543 และในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด และแต่งตั้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ชั่วคราว โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 จนถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2543 หลังจากนั้นศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้และคำสั่งศาลล้มละลายกลางในรายงานกระบวนพิจารณา และมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2543 ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิในชื่อและเครื่องหมายการค้าคลอสเตอร์ตามเงื่อนไขในหนังสืออนุญาตให้ใช้สิทธิ ข้อ 10 ที่ให้สิทธิโจทก์บอกเลิกสัญญาหากบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด มีหนี้สินจนต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และในวันที่ 9 มิถุนายน 2543 โจทก์มีหนังสือห้ามจำเลยใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าคลอสเตอร์อีกต่อไป วันที่ 20 ตุลาคม 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ต่อมาจำเลยถูกฟ้องล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 ให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเข้าว่าคดีนี้แทนจำเลย และที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2549 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
ที่จำเลยอ้างประการต่อไปว่า โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองสมคบกันให้โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 9 มิถุนายน 2543 ห้ามจำเลยใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “คลอสเตอร์” และฟ้องคดีทั้ง ๆ ที่จำเลยมีสิทธิใช้ตามข้อสัญญา นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า “KLOSTER” และ “คลอสเตอร์” ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย จำเลยมีสิทธิใช้ตราบเท่าที่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ยังมีสิทธิผลิตเบียร์คลอสเตอร์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และเมื่อสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิได้สิ้นสุดลงโดยการบอกเลิกสัญญาของโจทก์โดยชอบตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 ตามข้อสัญญาดังกล่าวเนื่องจากบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด มีหนี้สินจำนวนมากอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ จำเลยจึงต้องระงับการใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคลอสเตอร์ของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 การที่จำเลยยังคงใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลังการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 9 มิถุนายน 2543 ห้ามจำเลยใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “คลอสเตอร์” โดยอ้างว่าจำเลยละเมิดสิทธิของโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยชอบ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอ้างประการต่อไปว่า โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองสมคบกันในช่วงที่มีกระบวนการฟื้นฟูกิจการของจำเลยนั้น โดยให้โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำแผนของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด บังคับจำเลยให้ซื้อเบียร์ด้วยเงินสด จัดส่งสินค้าให้จำเลยเพียงร้อยละ 70 ในทุกครั้งที่จำเลยส่งสินค้าและชำระราคาไป 100 เปอร์เซ็นต์ ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ผู้ทำแผนให้จำเลยทำสัญญาจ้างผลิตเบียร์ โดยจำเลยไม่สมัครใจ และต่อมามีหนังสือแจ้งจำเลยว่าจะหยุดขายเบียร์คลอสเตอร์ทุกชนิดให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไป กับให้จำเลยจำหน่ายเบียร์ในโกดังให้หมดอย่างช้าภายในวันที่ 30 กันยายน 2543 ส่วนคำสั่งซื้อในช่วงก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2543 ให้ชำระเป็นเงินสดในวันส่งมอบและจะส่งมอบให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2543 ต่อมาโจทก์ร่วมที่ 1 จัดตั้งและมีหนังสือเวียนแจ้งไปยังตัวแทนจำหน่ายช่วงเบียร์คลอสเตอร์ว่าได้จัดตั้งบริษัทไทยอมฤต ดิสทริบิวชั่น จำกัด ขึ้นเพื่อจัดจำหน่ายแทน นั้น เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจบริหารจัดการบริษัทที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการไปตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งคู่ความทุกฝ่ายมีโอกาสโต้แย้งคัดค้านในกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 3/1 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มาตรา 90/1 ถึง 90/90 ได้โดยชอบอยู่แล้ว โดยศาลล้มละลายกลางซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาถึงข้อโต้แย้งของคู่ความทุกฝ่ายตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งศาลล้มละลายกลางก็ได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ของการฟื้นฟูกิจการบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด จนคดีในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการเป็นที่ยุติไปแล้วตามคำสั่งฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งการฟื้นฟูกิจการของกิจการใด กิจการนั้นย่อมต้องถูกเปลี่ยนแปลงสภาพการดำเนินการที่ผู้บริหารชุดเดิมเคยดำเนินการแล้วเกิดปัญหาหนี้สิน เพื่อให้ต่อไปกิจการที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูสามารถฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพปกติโดยไม่ต้องไปสู่สภาวะของกิจการที่ล้มละลาย กรณีไม่อาจถือได้ว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิตามกฎหมายของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองที่เปิดโอกาสแก่ทุกฝ่ายรวมถึงจำเลยที่จะโต้แย้งคัดค้านตามกระบวนการได้อย่างเต็มที่อยู่แล้วเป็นส่วนหนึ่งของการที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองสมคบกันเพื่อครอบงำกิจการของจำเลยโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยอ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทจำเลย มิให้ใช้คำว่า “KLOSTER” และ/หรือ “คลอสเตอร์” หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาตามคำขอบังคับท้ายคำฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่ายังไม่ถูกต้อง เพราะบทบัญญัติมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สิทธิโจทก์ร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์เป็นของจำเลยเท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยได้ คำขอบังคับของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคำขอบังคับที่ไม่อาจทำได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยใช้ชื่อ ยื่นจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องใด ๆ ในทางที่เป็นละเมิดกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “KLOSTER” และ/หรือ “คลอสเตอร์” ของโจทก์ เว้นแต่จะได้เปลี่ยนชื่อภายในกำหนดที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกคำบังคับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความใช้แทนให้รายละ 40,000 บาท