แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยตกลงกันขอให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นข้อเดียวว่า จำเลยมีสิทธิสั่งเลิกสหกรณ์โจทก์ตามกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์จำเลยขอสละข้อต่อสู้อื่นๆ และไม่ติดใจสืบพยานกันต่อไป ย่อมถือว่าโจทก์จำเลยขอปิดคดีของตนเสร็จแล้ว ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ต่อไปอีก
เมื่อได้ความว่าสหกรณ์จำกัดไม่อาจดำเนินการให้ได้ผลดี หรือการดำเนินการของสหกรณ์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์หรือประโยชน์ส่วนรวมดังระบุไว้ในมาตรา 51 (3) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 แล้ว นายทะเบียนสหกรณ์ย่อมมีอำนาจสั่งเลิกสหกรณ์ได้ทันทีโดยไม่จำต้องสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องตามมาตรา 47 ก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์การเกษตร จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งให้เลิกสหกรณ์โจทก์เพราะโจทก์ไม่ดำเนินกิจการให้ได้ผลดีและก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ และประโยชน์ส่วนรวม ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๕๑ (๓) โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ตรวจสอบหาความจริงและสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องตามมาตรา ๔๗ ก่อน จึงเป็นคำสั่งไม่ชอบ ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวเสีย
จำเลยทั้งสามให้การว่า การสั่งเลิกสหกรณ์โจทก์ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๔๔, ๔๕, ๔๗ ก่อนจำเลยที่ ๒ มีคำสั่งให้เลิกสหกรณ์โจทก์ตาย มาตรา ๕๑ (๓)
วันนัดพร้อมคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกัน ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิสั่งเลิกสหกรณ์โจทก์ตามกฎหมายหรือไม่ โดยคู่ความสละข้อต่อสู้อื่นๆ และไม่ติดใจสืบพยานกันต่อไป ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีเสร็จการพิจารณาให้นัดฟังคำพิพากษา ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโจทก์ยื่นคำร้องโต้แย้งขอสืบพยานโจทก์ต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีอำนาจสั่งเลิกสหกรณ์โจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๕๑ (๓) ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์ขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ต่อไปนั้น ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์จำเลยขอให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นข้อเดียวว่าจำเลยมีสิทธิสั่งเลิกสหกรณ์โจทก์ตามกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์จำเลยขอสละข้อต่อสู้อื่นๆ และไม่ติดใจสืบพยานกันต่อไปย่อมถือว่าโจทก์จำเลยขอปิดคดีของตนเสร็จแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ต่อไปอีก
ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ ให้อำนาจจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ที่จะสั่งเลิกสหกรณ์จำกัด ได้ทันทีเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าวและข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกัน แสดงให้เห็นว่าสหกรณ์โจทก์ไม่อาจดำเนินการให้ได้ผลดีหรือการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ หรือประโยชน์ส่วนรวมดังที่ระบุไว้ในมาตรา ๕๑ (๓) นั้นแล้ว จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ย่อมมีอำนาจสั่งเลิกสหกรณ์โจทก์ได้ ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ได้
พิพากษายืน