แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในฟ้องของโจทก์กล่าวว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับโอนการเช่าโรงเรือนของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาจาก โจทก์ที่ 2 ผู้เช่าเดิม แต่ระหว่างโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เช่า โจทก์ที่ 2 ได้ตกลงจ้างจำเลยจัดการดำเนินการค้าอยู่ในโรงเรือนที่เช่า ครั้นโจทก์ที่ 1 ได้รับโอนสิทธิการเช่ามาจากโจทก์ที่ 2 แล้ว โจทก์ที่2 ได้บอกเลิกจ้างจำเลยและให้จำเลยเลิกดำเนินการค้าเพื่อส่งมอบเรือนโรงรายนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำเลยไม่ปฏิบัติตามยังคงทำการค้าและอาศัยอยู่ในโรงเรือนรายนี้ตลอดมาโดยมิได้รับความอนุญาตจากเจ้าของสถานที่และโจทก์ที่ 1 ผู้เช่าเป็นการละเมิดและรอนสิทธิโจทก์ที่ 1 ฟ้องดังกล่าวมานี้แสดงว่าโจทก์เป็นผู้เช่าสถานที่พิพาทจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำเลยเป็นผู้อาศัยสิทธิโจทก์ และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยออกจากสถานที่เช่าแล้วจำเลยไม่ยอมออกเช่นนี้โดยปกติโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยได้ ส่วนข้อต่อสู้จำเลยจะมีอย่างไรเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นพิจารณา.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ที่ ๑ ทำสัญญาเช่าเรือนโรงหมายเลข ๒๑๒๙๘ และ ๓๐๐ ตลาดท่าเตียน จังหวัดพระนคร จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยรับโอนสิทธิการเช่าจากโจทก์ที่ ๒ ผู้เช่าเดิมระหว่างโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้เช่า โจทก์ที่ ๒ ได้ตกลงจ้างจำเลยจัดการดำเนินการค้าอยู่ในโรงหมายเลขที่ ๓๐๐ ครั้นโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๑ ทำสัญญาเช่าตรงจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัริย์แล้วโจทก์ที่ ๒ ได้บอกเลิกจ้างจำเลยและให้จำเลยเลิกดำเนินการค้าเพื่อส่งมอบเรือนโรงรายนี้ให้แก่ โจทก์ที่ ๑ เข้าครอบครอง จำเลยไม่ปฏิบัติตามและยังคงทำการค้าและอาศัยอยู่ในโรงเรือนรายนี้ตลอดมาโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของสถานที่และโจทก์ที่ ๑ ผู้เช่า ต้องถือว่าจำเลยอยู่ด้วยการละเมิดสิทธิของผู้ให้เช่าและรอนสิทธิโจทก์ที่ ๑ ผู้เช่าโดยไม่อาจจะใช้สิทธิเข้าครอบครองที่เช่าได้
โจทก์ที่ ๑ ได้มอบให้ทนายความแจ้งให้จำเลยออกไปแต่จำเลยเพิกเฉยเป็นเหตุให้เสียหาย จึงต้องมาฟ้องขออำนาจศาลบังคับขับไล่จำเลยและบริวารออกจากโรงเรือนรายพิพาท ให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๕๐ บาท นับแต่วันฟ้อง
พร้อมกับการยื่นฟ้องโจทก์ได้ยื่น คำร้องขอเรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เจ้าของโรงเรือนผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมด้วย
ในชั้นสั่งฟ้องศาลแขวงพระนครเหนือเห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้เพราะไม่ใช่เจ้าของที่พิพาทและการที่โจทก์ขอให้เรียกสำนักงานทรัพย์สินฯ เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมด้วยนั้นเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องได้เองแล้วก็ไม่มีสิทธิขอให้เรียกผู้ใดเข้ามาในคดี พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นรับประทับฟ้องโจทก์และเรียกสำนักงานทรัพย์สิน ฯ เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามคำขอของโจทก์แล้วดำเนินกระบวนการพิจารณาไปตามรูปคดี
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงฝ่ายจำเลยแล้วปรึกษาเห็นว่าตามฟ้องโจทก์ดังที่บรรยายมาแสดงว่าโจทก์เป็นผู้เช่าสถานที่พิพาทจากทรัพย์สิน ฯ จำเลยเป็นผู้อาศัยสิทธิโจทก์และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยออกจากสถานที่เช่าแล้ว จำเลยไม่ยอมออกเช่นนี้โดยปกติโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยได้ ส่วนข้อต่อสู้จำเลยจะมีอย่างไร เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันในชั้นพิจารณา
ฎีกาจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย ได้อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๑/๒๔๙๔,๑๖๒๗/๒๔๙๔,๓๙๕/๒๔๙๕ และ ๑๕๒๘ – ๑๕๒๙/๒๔๙๗ นั้นได้ตรวจดูแล้วปรากฏว่าฎีกาทั้ง ๕ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ศาลวินิจฉัยในข้อเท็จจริงซึ่งได้ความตามทางพิจารณาไม่เหมือนกับคดีนี้ จะยกมาปรับกับคดีนี้ไม่ด้
เหตุนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รับฟ้องไว้พิจารณาและดำเนินการพิจารณาและพิพากษาต่อไปเป็นการชอบแล้วจึงพิพากษาให้ยกฎีกาจำเลย.