คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8957/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 140 (3) กำหนดหลักเกณฑ์การอ่านคำพิพากษาว่าให้อ่านโดยเปิดเผยต่อหน้าคู่ความ ไม่หมายความรวมถึงต้องเปิดซองคำพิพากษาต่อหน้าคู่ความด้วย เพราะซองคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นเรื่องการปฏิบัติภายในศาลเพื่อรักษาความลับของทางราชการไม่ให้เปิดเผยต่อบุคคลภายนอกก่อนกำหนดเวลาอ่านให้คู่ความฟัง หากมีการทุจริต หรือปล่อยปละละเลยให้คำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งเป็นความลับของทางราชการถูกเปิดเผย ย่อมต้องรับผิดชอบเป็นอีกกรณีหนึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำให้การอ่านคำพิพากษาซึ่งดำเนินการตามบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยชอบแล้วกลับเป็นไม่ชอบแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเจริญศักดิ์ ผู้ตาย ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นตัดซองคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีแล้วจึงนำมาอ่านให้คู่ความฟัง โดยทนายผู้คัดค้านได้โต้แย้งไว้ในห้องพิจารณาคดีแล้ว ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า มีเหตุต้องเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140 (3) ที่บัญญัติเรื่องการอ่านคำพิพากษาไว้ว่า “การอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้อ่านข้อความทั้งหมดในศาลโดยเปิดเผย ตามเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้ ต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลจดลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือในรายงานซึ่งการอ่านนั้น และให้คู่ความที่มาศาลลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ” มีความหมายรวมถึงการเปิดซองคำพิพากษาเพื่ออ่านต่อหน้าคู่ความ มิใช่เปิดซองลับหลังคู่ความ เพราะวิธีการอ่านคำพิพากษาศาลสูงจะต้องโปร่งใสเป็นธรรม และเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของศาลที่ต้องตัดซองคำพิพากษาต่อหน้าคู่ความที่มาศาล การที่ศาลชั้นต้นตัดซองคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลับหลังคู่ความที่มาศาล ย่อมทำให้คำพิพากษาดังกล่าวไม่เป็นความลับ อาจเกิดการทุจริตเปลี่ยนคำพิพากษาได้ การกระทำของศาลชั้นต้นจึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140 (3) ประกอบมาตรา 27 นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140 (3) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลไว้ชัดเจนแล้วว่าให้ศาลอ่านข้อความทั้งหมดในศาลโดยเปิดเผยต่อหน้าคู่ความที่มาศาล และให้ศาลจดรายงานการอ่านไว้ แล้วให้คู่ความที่มาศาลลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงต้องเปิดซองคำพิพากษาหรือคำสั่งต่อหน้าคู่ความด้วย เพราะซองคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นเรื่องการปฏิบัติภายในศาลเพื่อการรักษาความลับของทางราชการไม่ให้เปิดเผยต่อบุคคลภายนอกก่อนกำหนดเวลาอ่านให้คู่ความฟัง ซึ่งผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องรักษาความลับของทางราชการตามอำนาจหน้าที่ หากมีเจตนาทุจริต หรือปล่อยปละละเลยให้คำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งเป็นความลับของทางราชการถูกเปิดเผย ย่อมต้องรับผิดชอบเป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้การอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยชอบแล้วกลับเป็นไม่ชอบแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาต่อท้ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 ว่า ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ผู้ร้อง ทนายผู้ร้องและทนายผู้คัดค้านมาศาลพร้อมแล้ว ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาต่อหน้าคู่ความที่มาศาลดังกล่าวพร้อมกับให้ลงลายมือชื่อไว้เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140 (3) แล้ว จึงไม่มีเหตุต้องเพิกถอนการอ่านดังที่ผู้คัดค้านฎีกา คำสั่งของศาลล่างทั้งสองที่ให้ยกคำร้องชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share