คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8944/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยขอให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นการสั่งจำหน่ายคดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 ตอนท้าย มิได้ประสงค์ให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปจากศาลเสียทีเดียว คำสั่งจำหน่ายคดีเช่นนี้มิใช่คำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 เมื่อต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีล้มละลาย โจทก์ก็กลับมาดำเนินคดีนี้ต่อไปได้
แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปโดยไม่ได้ไต่สวน แต่ในวันนัดพร้อม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป และศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว ถือว่าศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องอ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาดแล้วเท่านั้น ไม่ปรากฏเหตุผลอื่นอีก ศาลชั้นต้นสามารถวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวได้เองตามข้อกฎหมายข้างต้น คดีจึงไม่จำต้องไต่สวน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 196,186,244.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ต่อมาระหว่างสืบพยานโจทก์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2544 ปรากฏว่า ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งวันที่ 31 สิงหาคม2544 พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2544 และออกหมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงขอเข้าว่าคดีแทนและขอให้จำหน่ายคดีตามคำแถลงลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกจากสารบบความ ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2549 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขึ้นพิจารณาต่อ เนื่องจากศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ยกคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขึ้นพิจารณาต่อ และนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลย
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อ เพราะว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการจำหน่ายคดีโดยเด็ดขาดแล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การจำหน่ายคดีดังกล่าวมิได้เป็นการสั่งจำหน่ายคดีโดยเด็ดขาด ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่ง ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกจากสารบบความเป็นการจำหน่ายคดีโดยเด็ดขาด อันมีผลให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะดำเนินคดีนี้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อีกต่อไปหากโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อีก โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคดีใหม่ภายในกำหนดอายุความนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 25 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งให้ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยขอให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ การพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นการสั่งจำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 25 ตอนท้าย มิได้ประสงค์ให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปจากศาลเสียทีเดียว คำสั่งจำหน่ายคดีเช่นนี้มิใช่สั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ดังนั้น เมื่อต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีล้มละลาย โจทก์ก็กลับมาดำเนินคดีนี้ต่อไปได้ โจทก์จึงหาต้องไปฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคดีใหม่ภายในอายุความดังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการสุดท้ายว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปโดยไม่ได้ไต่สวนหรือให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คัดค้านก่อนนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป โดยไม่ได้ไต่สวน แต่ในวันนัดพร้อมคู่ความ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป และศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว ถือว่าศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป อ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาดแล้วเท่านั้น โดยไม่ปรากฏเหตุผลอื่นอีก ซึ่งปัญหาดังกล่าวศาลชั้นต้นสามารถวินิจฉัยได้เองตามข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น คดีจึงไม่จำต้องไต่สวน คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share