คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5563/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้… (4) เงินได้ที่เป็น (ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน” เดิมบริษัทมีทุนจดทะเบียน 35,000,000 วันที่ 27 เมษายน 2549 บริษัทจดทะเบียนลดทุนเหลือ 29,000,000 บาท งบดุลของบริษัทรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 ก่อนการคืนเงินลงทุนมีกำไรสะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 จำนวน 14,888,824 บาท เมื่อหักเงินปันผลที่บริษัทประกาศจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น 4,900,000 บาท คงเหลือกำไรสะสมก่อนคืนเงินลดทุน 9,988,824 บาท การที่บริษัทจดทะเบียนลดทุนและจ่ายเงินลดทุนหรือเงินลงทุนคืนแก่ผู้ถือหุ้น 6,000,000 บาท จึงเป็นการจ่ายเงินลดทุนซึ่งส่วนที่จ่ายคืนนั้นไม่เกินกว่ากำไรสะสมก่อนคืนเงินลดทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ง) ที่โจทก์ทั้งสามต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ ภงด. 12-07650010-25530607-001-00030 เลขที่ ภงด. 12-07650010-25530701-001-00042 และเลขที่ ภงด. 12-07650010-25530701-001-00043 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.7/พล/0001/1/2554 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2554 เลขที่ สภ.7/พล/0003/1/2554 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2554 และเลขที่ สภ.7/พล/0002/1/2554 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2554 ให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง โดยโจทก์ทั้งสามและจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์ที่ 1 นางจินดา ภริยาโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเดิมบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด มีทุนจดทะเบียน 35,000,000 บาท แบ่งเป็น 350,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 บริษัทประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดทุนของบริษัทจากเดิม 350,000 หุ้น เหลือ 290,000 หุ้น ส่วนมูลค่าหุ้นคงเดิม คือหุ้นละ 100 บาท วันที่ 12 ธันวาคม 2548 บริษัทประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติยืนยันให้มีการลดทุนและลดจำนวนหุ้นตามที่เคยประชุมไว้เดิม พร้อมพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นจากกำไรสะสมในอัตราหุ้นละ 14 บาท เป็นเงิน 4,900,000 บาท และเพื่อมิให้เกิดปัญหาสภาพคล่องของบริษัท จึงมีมติให้จ่ายเงินปันผลบางส่วนให้แก่ผู้ถือหุ้นบางคนก่อน 805,800 บาท ส่วนที่เหลือ 4,094,200 บาท ให้ตั้งเป็นเงินปันผลค้างจ่าย แล้วบริษัทจดทะเบียนลดทุนเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549 ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น งบการเงินของบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด สำเนาหนังสือรับรอง คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด หนังสือบริคณห์สนธิ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2548 รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2548 เดิมโจทก์ที่ 1 ถือหุ้นของบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด 84,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท คิดเป็นเงินถือหุ้น 8,400,000 บาท นางจินดา ภริยาโจทก์ที่ 2 ถือหุ้นของบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด 5,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท คิดเป็นเงินถือหุ้น 500,000 บาท โจทก์ที่ 3 ถือหุ้นของบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด 3,500 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท คิดเป็นเงินถือหุ้น 350,000 บาท หลังจากที่บริษัทดังกล่าวมีมติให้ลดทุน 60,000 หุ้น ได้มีการลดหุ้นของผู้ถือหุ้นในบริษัทจำนวน 7 คน โดยในส่วนของโจทก์ที่ 1 ลดจำนวนหุ้นลง 9,100 หุ้น คงเหลือ 74,900 หุ้น ได้รับเงินจากการลดทุน 910,000 บาท นางจินดา ลดจำนวนหุ้นลง 4,500 หุ้น คงเหลือ 500 หุ้น ได้รับเงินจากการลดทุน 450,000 บาท และโจทก์ที่ 3 ลดจำนวนหุ้นลง 3,000 หุ้น คงเหลือ 500 หุ้น ได้รับเงินจากการลดทุน 300,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 นางจินดา และโจทก์ที่ 3 ยังได้รับเงินปันผลตามจำนวนหุ้นที่แต่ละคนมีอยู่เดิมบางส่วน 122,213 บาท 60,435 บาท และ 40,290 บาท ตามลำดับ ตามรายการเดินบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ รายการเดินบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน สำเนาเช็ค และตารางสรุปการคำนวณปันผลค้างจ่าย เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า เงินที่โจทก์ที่ 1 นางจินดา และโจทก์ที่ 3 ได้รับจากการลดทุนดังกล่าวเข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ง) ที่จะต้องนำมาคำนวณภาษี จึงมีหนังสือเชิญโจทก์ที่ 1 นางจินดา และโจทก์ที่ 3 พบ บุคคลทั้งสามมอบอำนาจให้นายสาโรจน์ มาพบ และเห็นว่าการลดทุนของบุคคลทั้งสามเป็นการนำเงินลงทุนคืน สรรพากรพื้นที่พิษณุโลกมีหนังสือหารือไปยังสำนักงานสรรพากรภาค 7 เกี่ยวกับกรณีเงินลดทุนดังกล่าว สำนักงานสรรพากรภาค 7 หารือไปยังกรมสรรพากร และกรมสรรพากรมีหนังสือตอบข้อหารือเกี่ยวกับการลดทุนของบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด หลังจากเจ้าพนักงานของจำเลยได้รับหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรแล้ว ได้พิจารณางบดุลของบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด ในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนการคืนเงินลงทุนพบว่า บริษัทมีกำไรสะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 จำนวน 14,888,824.43 บาท หักเงินปันผลที่ประกาศจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น 4,900,000 บาท คงเหลือกำไรสะสมก่อนคืนเงินลดทุน 9,988,824.43 บาท บริษัทจ่ายเงินลดทุนคืนแก่ผู้ถือหุ้น 6,000,000 บาท จึงไม่เกินกำไรสะสมก่อนคืนเงินลดทุน เงินที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการลดทุนจึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ง) ที่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี เจ้าพนักงานประเมินเชิญโจทก์ที่ 1 นางจินดา และโจทก์ที่ 3 มาพบ ภายหลังบุคคลทั้งสามมอบอำนาจให้นายสาโรจน์ มาพบ แต่นายสาโรจน์ ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินจึงหมายเรียกโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ในฐานะสามีนางจินดา และโจทก์ที่ 3 ให้ถ้อยคำประกอบการตรวจสอบ โดยได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีแล้ว คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท. 228/2552 เรื่อง มอบอำนาจให้สรรพากรภาค ผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่และผู้อำนวยการสำนักตรวจภาษีกลาง สั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร คำสั่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่พิษณุโลก ที่ 122/2553 เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่า โจทก์ที่ 1 มีเงินได้จากการลดทุนจากบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด 910,000 บาท ถือเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ง) โจทก์ที่ 1 มีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม 181,542.60 บาท เบี้ยปรับ 181,542.60 บาท และเงินเพิ่ม 106,202.42 บาท (เงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2553) รวม 469,287.62 บาท นางจินดา ภริยาโจทก์ที่ 2 มีเงินได้จากการลดทุนจากบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด 450,000 บาท ถือเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ง) และมีเงินได้ค่าเช่า 36,000 บาท ซึ่งนางจินดา ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นสามี โจทก์ที่ 2 มีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม 29,720 บาท เบี้ยปรับ 29,720 บาท และเงินเพิ่ม 17,832 บาท (เงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2553) รวม 77,272 บาท โจทก์ที่ 3 มีเงินได้จากการลดทุนจากบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด 300,000 บาท ถือเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ง) โจทก์ที่ 3 มีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม 21,800.76 บาท เบี้ยปรับ 21,800.76 บาท และเงินเพิ่ม 13,080.46 บาท (เงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2553) รวม 56,681.98 บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) พร้อมใบแนบ
โจทก์ทั้งสามไม่เห็นด้วยกับการประเมินและอุทธรณ์คัดค้านการประเมินดังกล่าว โดยขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกเลิกการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ทั้งสาม สำหรับปีภาษี 2549 และงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภาษีอากร ตามสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า เงินลดทุนของบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด ไม่เกินกำไรสะสมก่อนคืนเงินลดทุน เงินลดทุนดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ง) โจทก์ทั้งสามต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีทั้งจำนวน การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ในส่วนของโจทก์ที่ 1 นั้น เนื่องจากโจทก์ที่ 1 มิได้นำเครดิตภาษีเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษี และมิได้นำมาถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 ทวิ จึงให้ปรับปรุงการคำนวณภาษีใหม่ให้ถูกต้อง ลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ทั้งสาม คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย สำหรับเงินเพิ่มนั้น ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้งดหรือลดได้ ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คำวินิจฉัยอุทธรณ์และรายงานการประชุม แต่โจทก์ทั้งสามยังไม่เห็นพ้องด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยก่อนว่า คำอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามเป็นอุทธรณ์โดยชัดแจ้งหรือไม่ โดยจำเลยแก้อุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายตามที่ศาลภาษีอากรกลางได้รับฟังทั้งสิ้น แต่ไม่ได้กล่าวอ้างว่าคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่ถูกต้องอย่างไร นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามคำอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามบรรยายไว้ส่วนหนึ่งว่า เงินลงทุนที่โจทก์ที่ 1 นางจินดา ภริยาโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ได้รับคืนนั้น ไม่มีเงินกำไรสะสมหรือเงินที่กันไว้รวมอยู่ด้วย เป็นการถอนหุ้นจากทุนเรือนหุ้นโดยตรง เงินที่โจทก์ที่ 1 นางจินดา ภริยาโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ได้รับ จึงไม่ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ง) เพราะเป็นเพียงเงินลงทุนที่ได้รับคืนเท่านั้น ซึ่งเห็นได้แล้วว่า โจทก์ทั้งสามไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางที่วินิจฉัยว่า เงินได้ที่โจทก์ที่ 1 นางจินดา ภริยาโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ง) ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นอุทธรณ์ที่โจทก์ทั้งสามได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อแรกว่า เงินที่โจทก์ที่ 1 นางจินดา ภริยาโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ได้รับจากการลดทุนของบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด 910,000 บาท 450,000 บาท และ 300,000 บาท ตามลำดับ เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ง) หรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมิน นั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้… (4) เงินได้ที่เป็น… (ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด มีทุนจดทะเบียน 35,000,000 บาท มีจำนวนหุ้น 350,000 หุ้น มีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท วันที่ 27 เมษายน 2549 บริษัทจดทะเบียนลดทุนเหลือ 29,000,000 บาท มีจำนวนหุ้นคงเหลือ 290,000 หุ้น มีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท ขณะที่บริษัทลดทุนจำนวนดังกล่าวได้นำเงินที่ได้จากการลดทุนจ่ายคืนให้แก่โจทก์ที่ 1 นางจินดา ภริยาโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยงบดุลของบริษัทในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 ก่อนการคืนเงินลงทุนพบว่า บริษัทมีกำไรสะสมยกมา ณ วันที่ 1 มกราคม 2548 จำนวน 14,220,118.12 บาท บวกกำไรสุทธิรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 จำนวน 668,706.31 จึงมีกำไรสะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 จำนวน 14,888,824.43 บาท เมื่อหักเงินปันผลที่บริษัทประกาศจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น 4,900,000 บาท คงเหลือกำไรสะสมก่อนคืนเงินลดทุน 9,988,824.43 บาท การที่บริษัทจดทะเบียนลดทุนและจ่ายเงินลดทุนหรือเงินลงทุนคืนแก่ผู้ถือหุ้น 6,000,000 บาท จึงเป็นการจ่ายเงินลดทุนซึ่งส่วนที่จ่ายคืนนั้นไม่เกินกว่ากำไรสะสมก่อนคืนเงินลดทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ง) ที่โจทก์ที่ 1 นางจินดา ภริยาโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์โต้แย้งว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินให้โจทก์ทั้งสามต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน และกำไรสะสมควรเป็นกำไรสะสมที่ยังไม่มีการเสียภาษีในปีภาษีนั้น ไม่ใช่การนำกำไรสะสมที่เสียภาษีแล้วมารวมเป็นกำไรสะสม หากนำกำไรสะสมที่ได้เสียภาษีแล้วมาตั้งเป็นยอดสุทธิของกำไรสะสม น่าจะเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากกำไรสะสมของบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 ได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว และได้ตั้งกำไรที่ได้ในแต่ละปีเป็นกำไรสะสมตามบัญชีงบดุลของบริษัทซึ่งเงินที่ถอนหุ้นของโจทก์ที่ 1 นางจินดา ภริยาโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ดังกล่าวไม่เกี่ยวกับกำไรสะสมและเงินที่กันไว้รวมกัน หากบริษัทได้จ่ายเงินปันผลให้แก่บุคคลทั้งสาม บุคคลทั้งสามจะต้องนำเงินที่ได้จากเงินปันผลมาคำนวณเป็นเงินได้อีกครั้งเพื่อเสียภาษีให้แก่จำเลย จึงถือได้ว่าเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน นั้น เห็นว่า เงินได้ที่โจทก์ที่ 1 นางจินดา ภริยาโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ได้รับในคดีพิพาทนี้เป็นเงินลดทุนของบริษัทเก้าแสนลิสซิ่ง จำกัด เฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน หาใช่เงินปันผล ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ข) ดังที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เงินที่โจทก์ที่ 1 ได้รับจากการลดทุน 910,000 บาท นางจินดา ภริยาโจทก์ที่ 2 ได้รับจากการลดทุน 450,000 บาท และโจทก์ที่ 3 ได้รับจากการลดทุน 300,000 บาท จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ง) โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ในฐานะสามีนางจินดาและโจทก์ที่ 3 ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2549 นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งสามต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง โดยโจทก์ทั้งสามมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีโจทก์ล่าช้า จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาเพียงว่า โจทก์ทั้งสามมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ง) บัญญัติไว้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เงินลดทุนของบริษัทเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การที่โจทก์ทั้งสามไม่นำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสามมีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่จำเลย การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ทั้งสาม คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย และศาลภาษีอากรกลางเห็นพ้องด้วย นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสามแล้ว ที่ศาลภาษีอากรวินิจฉัยว่า กรณีไม่มีเหตุงดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสามนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share