แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อ.ทำพินัยกรรมโดยพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าค. และ ล.พร้อมกัน ส่วน บ. ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมภายหลัง เมื่อ ค.และ ล. ลงลายมือชื่อในฐานะพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ อ.ในขณะที่ทำพินัยกรรมแล้ว พินัยกรรมจึงมีพยานครบ 2 คน มีผลสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรของนางแอ้ม ซึ่งถึงแก่กรรมแล้วโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้ง จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก อ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดก ให้จำเลยเกินกึ่งหนึ่ง ทั้งที่ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถทำพินัยกรรมและพิมพ์ลายนิ้วมือในพินัยกรรมได้ พยานที่ ลงชื่อในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวมิได้เห็นผู้ตายพิมพ์ลายนิ้วมือ ต่อหน้า พินัยกรรมเป็นโมฆะ ขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับดังกล่าว เป็นโมฆะ
จำเลยให้การว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมในขณะมีความรู้สึกผิดชอบสมบูรณ์ดี และได้พิมพ์ลายนิ้วมือในพินัยกรรมต่อหน้าพยานและผู้เขียนพินัยกรรมด้วยความสมัครใจ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมตามฟ้องในขณะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี ในการทำพินัยกรรมผู้ตายบอกข้อความให้นายธีระพงศ์ เขียน แล้วผู้ตายพิมพ์ลายนิ้วมือลงในช่องผู้ทำพินัยกรรมนายธีระพงศ์ ให้นายเคลื่อนลงลายมือชื่อเป็นพยานเป็นคนแรกในช่องพยานช่องล่างเว้นช่องบนให้นายบุญเลี้ยง แซ่จั่ว ผู้ใหญ่บ้านซึ่งยังไม่มาหลังจากนั้นให้นางละม้ายลงลายมือชื่อในช่องพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายในพินัยกรรมแผ่นที่ 3 ส่วนนายธีระพงศ์ ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เขียนในพินัยกรรมแผ่นที่ 3 เช่นกัน แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้นายบุญเลี้ยงจะไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายในขณะที่ทำพินัยกรรมพร้อมกับพยานอื่นก็ตาม แต่นายเคลื่อนกับนางละม้ายก็ได้ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายในขณะเดียวกัน และผู้ตายก็พิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้านายเคลื่อนและนางละม้ายพร้อมกัน พินัยกรรมจึงมีพยานครบ 2 คน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แล้ว คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่านายธีระพงศ์ จะมีฐานะเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยหรือไม่
พิพากษายืน.