คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1162/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดในคดีนี้รวมกับข้อหาอื่นที่ศาลแพ่ง และอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า ข้อหาที่โจทก์ฟ้องคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสองโจทก์จึงแยกข้อหาคดีนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ขับรถของโจทก์ด้วยความประมาทชนท้ายรถโดยสารประจำทางเป็นเหตุให้รถของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย เช่นนี้เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิดซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทาง สำหรับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 164 โจทก์นำคดีมาฟ้องก่อนครบกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยขับรถของโจทก์โดยความประมาทเลินเล่อชนท้ายรถโดยสารประจำทางเป็นเหตุให้รถของโจทก์เสียหายเป็นเงิน 38,110 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยในมูลเหตุเดียวกันนี้ต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ 16988/2529 คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งการที่โจทก์นำมูลเหตุเดียวกันมาฟ้องจำเลยยังศาลแรงงานกลางอีกจึงเป็นฟ้องซ้อน คดีนี้มิใช่คดีที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงานหรือสภาพการจ้าง จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะรับไว้พิจารณาและคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 34,841.50บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘…ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นเหตุเดียวกันกับคดีที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งและศาลแพ่งรับไว้พิจารณาแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณานั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายตามข้อหาที่ฟ้องเป็นคดีนี้รวมกับข้อหาอื่นที่ศาลแพ่ง และอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า ข้อหาที่โจทก์ฟ้องคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวนี้เป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสองโจทก์จึงแยกข้อหาคดีนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) ดังอุทธรณ์ของจำเลย…
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า วันเกิดเหตุที่รถชนกันคือวันที่ 15พฤศจิกายน 2527 โจทก์ได้สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปรับรถและทำการซ่อมแซม ถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันเกิดเหตุนั้นแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อเกินเวลา 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ขับรถยนต์ของโจทก์โดยความประมาทเลินเล่อชนท้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 38,110 บาท ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิด ซึ่งในกรณีเช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทางสำหรับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความฟ้องร้องไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2529 ก่อนครบกำหนด 10ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ…’
พิพากษายืน.

Share