คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 894/2482

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บัญญัติให้สิทธิ์แก่ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิ์ของตนได้อยู่ก่อนที่อาจจะเรียกร้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้เท่านั้นหากผู้นั้นไม่ฟ้องร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิ์ สิทธิ์ของผู้นั้นก็ยังคงมีอยู่ตามเดิม มาตรานี้หามีผลทำให้เสื่อมเสียสิทธิ์ของผู้นั้นอย่างใดไม่.
ประมวลแพ่งฯ มาตรา 240 ซึ่งบัญญัติให้ฟ้องร้องใน 1 ปี หรือ 10 ปีนั้นเป็นเรื่องนิติกรรมซึ่งเกิดจากการฉ้อฉลที่ลูกหนี้กระทำโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบหาใช่บังคับในเรื่องที่ผู้มีสิทธิ์ในที่ดินไม่เรียกร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนของคนอื่นในที่ดินนั้นไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่วิวาทนี้อยู่ในเขตต์โฉนดตราจองที่ ๑๖๐๒ ของจำเลยที่ ๑ และที่วิวาทกับที่นอกวิวาทเดิมเป็นของบิดาจำเลยที่ ๒ ๆ ได้ยกให้แก่จำเลยที่ ๒ ๆ ครอบครองมากว่า ๒๐ ปีคิดรวมทั้งบิดาจำเลยที่ ๒ ด้วยเป็นเวลานานถึง ๔๐ ปี.
ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ ๒ ได้ครอบครองที่วิวาทโดยอำนาจ ของตนเองมากว่า ๒๐ ปีและถึงเวลาที่จำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดินโฉนดที่ ๑๖๐๒ นี้ให้โจทก์ก็ได้ครอบครองกว่า ๙ – ๑๐ ปีแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่วิวาทรายนี้ แม้การซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จะได้ทำต่อหน้าเจ้าพนักงานก็ใช้ยันจำเลยที่ ๒ มิได้ เพราะจำเลยที่ ๑ ไม่มีกรรมสิทธิ์ผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้โอน จึงพิพากษาให้ขับไล่จำเลยฉะเพาะแต่จำเลยที่ ๑ คนเดียว ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้ขับไล่จำเลยที่ ๒ นั้นเสีย.
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ ๒ ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างเปิดเผยมากว่า ๑๐ ปี แม้การยกให้กันปากเปล่าก็ได้กรรมสิทธิ์ได้ตามประมวลแพ่งฯ ม.๑๓๘๒ โจทก์รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ ๑ โดยไม่สุจริต จึงยกสิทธิ์มาลบล้างกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ ที่มีอยู่ก่อนแล้วไม่ได้ จึงพิพากษายืนตามศาลเดิม.
โจทก์ฎีกาข้อกฎหมาย ยกประมวลแพ่งฯมาตรา ๑๓๐๐ ขั้นมาคัดค้านว่าจำเลยที่ ๒ รู้ว่าโจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินนี้มาจากจำเลยที่ ๑ ตั้ง ๘ ปี จำเลยที่ ๒ ไม่เรียกร้องให้เพิกถอน เป็นพฤตติการณ์ที่จำเลยที่ ๒ ยินยอมต่อการที่จำเลยที่ ๑ กับโจทก์ได้โอนซื้อขายที่รายนี้ต่อกัน.
ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลแพ่งฯ ม.๑๓๐๐ นี้บัญญัติให้สิทธิ์แก่จำเลยที่ ๒ ที่เรียกร้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนซึ่งโจทก์รับซื้อที่วิวาทจากจำเลยที่ ๑ ได้เท่านั้นแต่ถ้าจำเลยที่ ๒ ไม่เรียกคืนไม่ฟ้องร้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิ์ในที่ดินของจำเลยที่ ๒ ก็ยังคงมีอยู่ตามเดิม มาตรา ๑๓๐๐ หามีผลทำให้เสื่อมเสียสิทธิ์ในที่ดินของจำเลยที่ ๒ แต่อย่างใดไม่ที่โจทกืยกอายุความตาม ม.๒๔๐ ซึ่งบัญญัติให้ฟ้องร้องใน ๑ ปีหรือ ๑๐ ปีขึ้นมาอ้างนั้นก็เป็นเรื่องนิติกรรมซึ่งเกิดจากกลฉ้อฉลที่ลูกหนี้กระทำโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบหาตรงกับคดีนี้ไม่และเทียบกันมิได้ โจทก์ยกมาตรา ๒ บทนี้ขึ้นคัดค้านไม่มีทางชนะคดีจำเลยที่ ๒ ได้ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์.

Share