คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8938/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 แต่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ตรงตามที่โจทก์นำสืบ เท่ากับโจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยคดีนอกสำนวน อันเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้
โจทก์ได้บรรยายในคำฟ้องไว้ชัดเจนแล้วว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ชนท้ายรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ในขณะที่หยุดรถ โจทก์ได้ยินเสียงเบรกและเสียงดังเพียงครั้งเดียว และรถยนต์โจทก์ถูกชนเพียงครั้งเดียว เมื่อลงมาดูปรากฏว่ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 ชนรถยนต์โจทก์ และยังมีรถยนต์ของจำเลยที่ 3 มาชนท้ายรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนขับรถชนรถยนต์จำเลยที่ 2 แล้วรถยนต์จำเลยที่ 2 จึงมาชนรถยนต์โจทก์แต่อย่างใด ศาลจำเป็นจะต้องพิจารณาว่ารถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายจากการชนในครั้งใด ซึ่งตามพยานหลักฐานโจทก์ รถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายที่กันชนหลัง ไฟท้ายหลัง และกระโปรงหลังบุบยุบเข้าไป แสดงให้เห็นว่ามีการชนโดยแรงพอสมควรจึงได้รับความเสียหายขนาดนี้ หากรถยนต์จำเลยที่ 3 ชนรถยนต์จำเลยที่ 2 ก่อน แล้วรถยนต์จำเลยที่ 2 จึงกระเด็นไปกระแทกรถยนต์โจทก์ รถยนต์โจทก์ไม่น่าจะได้รับความเสียหายมากขนาดนี้ เพราะรถยนต์จำเลยที่ 2 รับแรงกระแทกไว้ก่อนแล้ว ความเสียหายส่วนใหญ่จึงน่าจะอยู่ที่ท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำสืบถึงความเสียหายของรถยนต์ของตนว่ามีมากน้อยเพียงใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ารถยนต์จำเลยที่ 2 ถูกชนจนกระเด็นไปกระแทกรถยนต์โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูง การถูกชนเพียงครั้งเดียวจึงเกิดจากจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ชนท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้รถยนต์จำเลยที่ 2 เคลื่อนไปกระแทกรถยนต์โจทก์นั้น ไม่ตรงกับคำเบิกความของโจทก์ ศาลฎีกาจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงใหม่
ก่อนเกิดเหตุโจทก์ขับรถไปตามถนนในช่องขวาสุด เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุโจทก์หยุดรถเนื่องจากรถติด ขณะที่โจทก์เหยียบเบรกไว้ประมาณ 1 นาที จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถยนต์ตามหลังมาเบรกไม่อยู่ ชนรถยนต์โจทก์ด้านท้าย ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ซึ่งขับรถยนต์ตามหลังรถยนต์จำเลยที่ 2 มา ชนด้านท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 อีกต่อหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ด้วยความเร็วไม่ระมัดระวังรถด้านหน้าว่าจะหยุดรถหรือไม่ทั้งที่การจราจรติดขัด การที่รถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายจึงเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 142,997 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 133,148 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 104,898.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีนี้แม้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีจำนวน 104,898.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2543 ถึงวันฟ้อง วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ตรงตามที่โจทก์นำสืบโดยวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบว่ารถยนต์โจทก์ถูกชนเพียงครั้งเดียว ความจริงโจทก์มิได้นำสืบว่ารถยนต์โจทก์ถูกชนเพียงครั้งเดียว แต่โจทก์นำสืบว่า “… ขณะหยุดรถข้าฯ ได้เหยียบเบรกไว้สักประมาณ 1 นาที ได้ยินเสียงลากล้อมาจากด้านหลัง แล้วได้ยินเสียงดังปัง จนรถของข้าฯ กระแทกไปชนรถคันหน้า แต่จำยี่ห้อทะเบียนไม่ได้ ข้าฯ ได้ยินเสียงเบรกและเสียงดังเพียงครั้งเดียว” ซึ่งมิได้หมายความว่ารถยนต์โจทก์ถูกชนเพียงครั้งเดียว และก่อนที่รถยนต์โจทก์จะถูกชน โจทก์ได้ยินเสียงเบรกลากล้อมาจากด้านหลัง ซึ่งระยะห่างจากรถยนต์จำเลยที่ 2 กับรถยนต์โจทก์อยู่ใกล้กว่ารถยนต์จำเลยที่ 3 เสียงเบรกห้ามล้อดังกล่าวจึงเป็นเสียงเบรกห้ามล้อของรถยนต์จำเลยที่ 2 เช่นนี้เท่ากับโจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยคดีนอกสำนวน อันเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยคดีไม่ตรงตามที่โจทก์นำสืบหรือไม่ ในเรื่องนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถยนต์ตามหลังรถยนต์โจทก์ด้วยความเร็วสูง ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ทำให้รถยนต์จำเลยที่ 2 ชนท้ายรถยนต์โจทก์ และรถยนต์จำเลยที่ 3 ชนท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 มากระแทกรถยนต์โจทก์อีก แต่โจทก์นำสืบว่า รถยนต์โจทก์ถูกชนเพียงครั้งเดียว ซึ่งฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง การถูกชนเพียงครั้งเดียวจึงเกิดจากจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ชนท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้รถยนต์จำเลยที่ 2 เคลื่อนไปกระแทกรถยนต์โจทก์…ฯลฯ” ดังนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อขับรถยนต์ชนท้ายรถยนต์โจทก์ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 ว่า ” … ขณะถึงที่เกิดเหตุโจทก์ได้เบรกรถยนต์เพราะรถด้านหน้าของโจทก์ติดขัด จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งขับรถตามหลังรถยนต์ของโจทก์มาด้วยความเร็วสูง จึงไม่สามารถหยุดรถของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทัน ทำให้รถยนต์ของจำเลยที่ 2 เฉี่ยวชนด้านท้ายรถยนต์ของโจทก์ ทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ 3 ได้ขับรถยนต์ตามหลังรถยนต์จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทางตรงด้วยความเร็วสูงเช่นกัน เมื่อถึงที่เกิดเหตุรถยนต์จำเลยที่ 3 จึงไม่สามารถหยุดรถได้ทันเป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ 3 เฉี่ยวชนรถยนต์ของจำเลยที่ 2 แล้วรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ก็กระเด็นมากระแทกรถยนต์ของโจทก์ทำให้ได้รับความเสียหายอีก…” เช่นนี้ โจทก์ได้บรรยายในคำฟ้องไว้ชัดเจนแล้วว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ชนท้ายรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ในขณะที่โจทก์หยุดรถ โจทก์ได้เหยียบเบรกไว้สักประมาณ 1 นาที ได้ยินเสียงลากล้อมาจากด้านหลัง แล้วได้ยินเสียงดังปัง จนรถยนต์โจทก์กระแทกไปชนรถยนต์คันหน้า แต่จำยี่ห้อทะเบียนไม่ได้ โจทก์ได้ยินเสียงเบรกและเสียงดังเพียงครั้งเดียว และรถยนต์โจทก์ถูกชนไปครั้งเดียว เมื่อโจทก์ลงมาดู ปรากฏว่ารถยนต์ที่ชนรถยนต์โจทก์หมายเลขทะเบียน น – 3340 ปทุมธานี (ขับโดยจำเลยที่ 2) และยังมีรถยนต์หมายเลขทะเบียน บค 239 ปทุมธานี (ขับโดยจำเลยที่ 3) มาชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน น – 3340 ปทุมธานี ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนขับรถชนรถยนต์จำเลยที่ 2 แล้วรถยนต์จำเลยที่ 2 จึงมาชนรถยนต์โจทก์แต่อย่างใด หากแต่จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายขับรถยนต์ชนรถยนต์โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ชนท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 อีกต่อหนึ่ง ศาลจำเป็นจะต้องพิจารณาว่ารถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายจากการชนในครั้งใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูง การถูกชนเพียงครั้งเดียวจึงเกิดจากจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ชนท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้รถยนต์จำเลยที่ 2 เคลื่อนไปกระแทกรถยนต์โจทก์นั้น ยังขาดเหตุผลสนับสนุนว่าเหตุใดจึงฟังข้อเท็จจริงเช่นนั้น ซึ่งไม่ตรงกับคำเบิกความของโจทก์จริงตามที่โจทก์ฎีกา ดังนั้น ศาลฎีกาจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงใหม่
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์ขับรถยนต์ไปตามถนนรังสิต – นครนายก ในช่องขวาสุด เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุโจทก์หยุดรถเนื่องจากรถติด ขณะที่โจทก์เหยียบเบรกไว้ประมาณ 1 นาที จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถยนต์ตามหลังมาเบรกไม่อยู่ ชนรถยนต์โจทก์ด้านท้าย ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ซึ่งขับรถยนต์ตามหลังรถยนต์จำเลยที่ 2 มา ชนด้านท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 อีกต่อหนึ่ง เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ด้วยความเร็ว ไม่ระมัดระวังรถด้านหน้าว่าจะหยุดรถหรือไม่ทั้งที่การจราจรติดขัด การที่รถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายจึงเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน น – 3340 ปทุมธานี ซึ่งจำเลยที่ 2 ขับ จึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 76,586.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share