คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12034/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านที่ 2 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางมีกำหนดผ่อนชำระ 12 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 มิถุนายน 2547 งวดสุดท้ายวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2547 เจ้าพนักงานตำรวจจับ ส. พร้อมยาเสพติดให้โทษ และยึดรถจักรยานยนต์ของกลาง ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบเรื่องการยึดทรัพย์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 แต่เพิ่งบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2549 หลังทราบเรื่องนานถึง 1 ปี 7 เดือน ทั้งยังแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อต่อไป แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 2 ประสงค์จะได้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเท่านั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 2 เพิกเฉยไม่ดำเนินการเพื่อให้ได้รถจักรยานยนต์ของกลางคืน ทั้ง ๆ ที่ทราบว่ามีการนำรถจักรยานยนต์ไปใช้ในการกระทำความผิด และเพิ่งยื่นคำร้องคัดค้านเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2549 เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 วรรคสี่ จึงไม่อาจคืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ปรค กรุงเทพมหานคร 123 และโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 1256 4747 ของกลาง ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้องกับคืนรถจักรยานยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ปรค กรุงเทพมหานคร 123 และโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 1256 4747 ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31
ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า มีเหตุที่ศาลจะสั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า พันตำรวจโทรณเดช พยานผู้ร้องเบิกความว่า พยานได้ตรวจสอบรถจักรยานยนต์ของกลางจากนายทะเบียนขนส่งกรุงเทพมหานคร จนทราบว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ครอบครอง และออกหมายเรียกไปยังผู้คัดค้านที่ 2 ให้มาเป็นพยานตามหมายเรียกพยานลงวันที่ 14 ตุลาคม 2547 ผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความตอบผู้ร้องถามค้านว่า หลังจากเกิดเหตุ 2 วัน พยานแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบประมาณเดือนกันยายน 2547 ผู้คัดค้านที่ 2 แจ้งว่ายังต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจึงเท่ากับว่าผู้คัดค้านที่ 2 ทราบเหตุตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 แล้ว แต่ผู้คัดค้านที่ 2 เพิ่งจะบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2549 หลังทราบเรื่องนานถึง 1 ปี 7 เดือน ทั้งยังแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อต่อไป แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่ยอมชำระแต่แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านที่ 2 ประสงค์จะได้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเท่านั้น ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเพิกเฉยไม่ดำเนินการเพื่อให้ได้รถจักรยานยนต์ของกลางคืน ทั้ง ๆ ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบเป็นอย่างดีว่ามีการนำรถจักรยานยนต์ไปใช้ในการกระทำความผิด นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องคัดค้านเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2549 หลังจากศาลไต่สวนพยานผู้ร้องซึ่งมีผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านไว้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 ทั้ง ๆ ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบเรื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 วรรคสี่ จึงไม่อาจคืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share