แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การใช้อำนาจประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานประเมิน การที่เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรจำเลยใช้อำนาจตามมาตรา 71(1) ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เป็นการปฏิบัติไปตามมาตรา 71(1)จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้โจทก์มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิก็ตาม
บทบัญญัติประมวลรัษฎากร มาตรา 27 วรรคสามระบุให้คำนวณเงินเพิ่มโดยเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ การที่เจ้าพนักงานของจำเลยคิดเงินเพิ่มจากโจทก์นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลรัษฎากรและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 69 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2537 เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์เพื่อส่งเอกสารและหลักฐานการลงบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2534 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2535 ต่อมา วันที่ 8 สิงหาคม 2540 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 71(1)สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2535 เป็นเงิน 374,693.20 บาท เงินเพิ่ม286,640.30 บาท รวมเป็นเงิน 661,333.50 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีความเห็นยืนตามความเห็นของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินเนื่องจากแม้โจทก์จะยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อพ้นกำหนด 150 วันแต่จำเลยก็ยอมรับแบบแสดงรายการและได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าโจทก์มีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน374,281.56 บาท (ที่ถูก 390,382.80 บาท) เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินตามมาตรา 71(1) นอกจากนี้การออกหมายเรียกของโจทก์ก็เป็นการออกหมายเรียกตามมาตรา 19มิใช่มาตรา 23 เมื่อจำเลยยังไม่ได้ออกหมายเรียกตามมาตรา 23เพื่อไต่สวนก่อน จำเลยก็ยังไม่มีสิทธิประเมินตามมาตรา 71(1) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.5/2527 ไม่ใช่กฎหมายจึงไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินจะใช้อำนาจในการประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ตามมาตรา 71(1) นั้น จะต้องปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถหากำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิได้สำหรับเงินเพิ่มนั้นจำเลยไม่มีสิทธิคิดตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้ประเมินภาษี จึงไม่มีเงินเพิ่มที่ต้องเสีย ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินที่ 9920010/2/100190 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ตง./2/2542 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2542
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยและการคำนวณเงินเพิ่มชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 แก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ส่งมอบบัญชีและเอกสารให้เจ้าพนักงานของจำเลยทำการตรวจสอบแล้วและโจทก์มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ เจ้าพนักงานของจำเลยไม่ควรประเมินภาษีโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) การประเมินภาษีตามมาตรา 71(1) ต้องเป็นกรณีที่มีภาษีที่จะต้องเสียจึงจะเลือกประเมินตามวิธีที่มากกว่าได้ เมื่อโจทก์มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิจึงไม่มีภาษีต้องเสียนั้น เห็นว่า การใช้อำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 71(1) กฎหมายบัญญัติให้เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานประเมินดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในมาตรา 71 วรรคสองว่า ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 71 เจ้าพนักงานประเมินจะใช้ดุลพินิจประเมินให้เสียภาษีตามบทบัญญัติในมาตราอื่นก็ได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยใช้อำนาจตามมาตรา 71(1) ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จึงเป็นการปฏิบัติไปตามมาตรา 71(1) การกระทำของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า เจ้าพนักงานของจำเลยใช้คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.78/2541 บังคับแก่โจทก์ไม่ได้ เพราะไม่ใช่กฎหมายนั้นเห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้แจ้งการประเมินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ก่อนที่จะมีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.78/2541 ให้ถือปฏิบัติ จึงเห็นได้ว่าคดีนี้เจ้าพนักงานของจำเลยมิได้ใช้คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.78/2541 มาปฏิบัติดังที่โจทก์อ้างข้ออ้างของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่าเจ้าพนักงานของจำเลยประเมินภาษีแก่โจทก์ในคดีนี้ไม่ชอบเพราะเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่ให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์นั้น เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยได้กระทำโดยถูกต้องตามประมวลรัษฎากรมาตรา 71(1) โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการเลือกปฏิบัติแก่โจทก์เท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 68/2540 ที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกันคดีนี้
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายเกี่ยวกับการคิดเงินเพิ่มซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่า หนี้จากการประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของจำนวนเงิน 374,693.20 บาท เกิดขึ้นเมื่อมีการประเมินตามมาตรา 71(1) ตราบใดที่ยังไม่มีการประเมินหนี้จำนวนดังกล่าวก็ยังไม่เกิด จึงคิดเงินเพิ่มตั้งแต่วันครบกำหนดยื่นรายการไม่ได้การนำมาตรา 27 วรรคสามมาบังคับแก่โจทก์จึงเป็นการใช้กฎหมายที่เป็นโทษแก่ผู้เสียภาษีอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 69 นั้น เห็นว่าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ระบุว่าบุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่าง ๆแห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมินให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ และในวรรคสามบัญญัติว่า การคำนวณเงินเพิ่มให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 69 บัญญัติว่าบุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ตามบทบัญญัติของมาตรา 27 วรรคสามดังกล่าวระบุให้คำนวณเงินเพิ่มโดยเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ การที่เจ้าพนักงานของจำเลยคิดเงินเพิ่มจากโจทก์นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลรัษฎากรและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2540 มาตรา 69 แล้ว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน