แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) ประกอบ มาตรา 30 การที่ศาลจะออกข้อกำหนดใดๆ ตามมาตรา 30 ได้จะต้องเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 ประการ คือ ออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในศาลเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็วประการหนึ่ง และออกข้อกำหนดใดๆ โดยสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทางประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรประการที่สอง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีกรณีที่เห็นจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาลหรือมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทางประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรทั้งสองประการตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนที่ศาลชั้นต้นออกข้อกำหนดตามมาตรา 36 (2) ตามภาพถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมาย ผ.1 นั้นก็ไม่ใช่การออกข้อกำหนดตามมาตรา 30 ดังนี้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะนำเทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงที่คัดลอกสำเนาจากเทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงหมาย ร.35 และ ร.36 ไปให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เปิดเผยหรือไม่ ก็ไม่ทำให้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 30 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
อนึ่ง ปัญหาที่ว่าการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ออกข้อกำหนดตามมาตรา 36 (2) จะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่นั้น ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัย จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยแต่อย่างใด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้กล่าวหากล่าวหาว่า ระหว่างการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 11 087/2542 ระหว่างนางอัมพาพันธ์ ที่ 1 และพลโทสมโภชน์ ที่ 2 ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก (มีพินัยกรรม) ของพลเอกสุนทร ผู้ตาย กับพันโทอภิรัชต์ ที่ 1 พันเอกหญิงคุณหญิงอรชร ที่ 2 และพันตรีณัฐพร ที่ 3 ผู้คัดค้าน ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2544 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาในนัดไต่สวนพยานปากที่สองของผู้ร้องในคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ผู้ร้องทั้งสอง ทนายผู้ร้องทั้งสอง ผู้คัดค้านที่ 3 ทนายผู้คัดค้านที่ 1 ทนายผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 มาศาล ทนายผู้ร้องทั้งสองนำตัวผู้ร้องที่ 2 เข้าเบิกความเป็นพยานแต่ยังไม่จบคำถามของทนายผู้ร้องทั้งสอง ทนายผู้ร้องทั้งสองแถลงขอเปิดเทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงซึ่งมีอย่างละ 1 ม้วน พยานอันดับ 6 และ 7 ตามบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของผู้ร้องทั้งสองฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าเทปวีดีทัศน์ดังกล่าวเป็นเทปที่ทำการถ่ายทำขณะที่พลเอกสุนทร และพยานในพินัยกรรมร่วมกันทำพินัยกรรมของพลเอกสุนทร และเทปบันทึกเสียงดังกล่าวเป็นเทปบันทึกเสียงของพลเอกสุนทร ที่เจตนากล่าวถึงความรู้สึกและความเห็นเกี่ยวกับพันเอกหญิงคุณหญิงอรชร และอื่น ๆ ตามลำดับ โดยเทปทั้งสองม้วนดังกล่าวศาลได้มีคำสั่งให้จ่าศาลโดยรองจ่าศาลพร้อมคู่ความไปนำเอามาจากตู้นิรภัยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาเอกมัย ซึ่งมีอยู่อย่างละ 1 ม้วน และรองจ่าศาลคือนางวัลยา ไปดำเนินการนำมาแยกเก็บไว้เพื่อนำมาใช้ในการพิจารณาคดีแล้ว ทนายผู้คัดค้านทั้งสามได้แถลงด้วยวาจาคัดค้านการเปิดดูและฟังเทปทั้งสองม้วนดังกล่าว ศาลคือนายกมล ได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2544 ในคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงดังกล่าวเป็นเพียงวัตถุพยาน หากพยานรู้เห็นย่อมสามารถที่จะเบิกความยืนยันได้ว่าเป็นจริงและพยานเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เพื่อให้พยานเบิกความเสร็จสิ้นไปเสียในคราวเดียว จึงให้ดำเนินการตามที่ผู้ร้องประสงค์ แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้ตายซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่สนใจของประชาชน ผู้เข้าฟังการพิจารณาบางคนเป็นสื่อมวลชน ซึ่งอาจนำเสนอข้อเท็จจริงในคดีต่อสาธารณชน หากข้อความในเทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงบางส่วนที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวโดยเฉพาะถูกเผยแพร่ต่อไป อาจจะกระทบถึงชื่อเสียงของผู้ตายและคู่ความในคดี ประการสำคัญอาจทำให้พยานผู้ร้องซึ่งต้องเบิกความภายหลังมีโอกาสได้รู้เห็นรายละเอียดในเทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียง ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่คู่ความได้ ดังนั้น อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 36 (2) จึงสมควรให้พยานผู้ร้องทั้งสองดูและฟังเทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงเป็นการลับ เพื่อมิให้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงดังกล่าวถูกเผยแพร่โฆษณาในระหว่างการพิจารณา” โดยศาลให้นัดพร้อมคู่ความเพื่อเปิดเทปทั้งสองม้วนดังกล่าวในวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 เวลา 10 นาฬิกา โดยให้ผู้ร้องจัดหาเครื่องอุปกรณ์ในการเปิดเทปทั้งสองม้วน พร้อมทั้งให้ผู้ร้องทั้งสองจัดทำรายละเอียดเนื้อหาใจความจากเทปบันทึกลงในเอกสารต่อหน้าจ่าศาลหรือรองจ่าศาลที่ได้รับมอบหมายและผู้คัดค้านทั้งสาม และส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาล ทนายผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 แถลงขออนุญาตศาลว่าจะนำเครื่องมือมาบันทึกคัดลอกสัญญาณจากเทปทั้งสองม้วนดังกล่าวด้วยซึ่งศาลอนุญาต ต่อมาในวันนัดพร้อมวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 ได้มีการเปิดเทปทั้งสองม้วนดังกล่าวตามที่ศาลได้นัดไว้ ทนายผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 คือนายอำนาจสมบูรณ์ทรัพย์ดี ก็ได้บันทึกคัดลอกสัญญาณจากเทปทั้งสองม้วนดังกล่าวเพื่อนำไปตรวจสอบอย่างละ 1 ม้วน ตามที่ศาลอนุญาต และในวันนัดพร้อมดังกล่าวเนื่องจากทนายความเดิมของผู้ร้องที่ 1 ได้ขอถอนตัวออกไป ผู้ร้องที่ 1 จึงได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาใหม่ รวม 3 คน คือผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายนิเวส และนายวรภพ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะทนายความของผู้ร้องที่ 1 ได้ยื่นคำแถลงขอบันทึกคัดลอกสัญญาณจากเทปทั้งสองม้วนดังกล่าว ซึ่งนายสมเจริญ ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีนี้แทนนายกมลได้มีคำสั่งอนุญาตตามที่แถลงแต่มิได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมที่ให้เปิดเทปทั้งสองดังกล่าวเป็นการลับ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็ได้บันทึกคัดลอกสัญญาณจากเทปทั้งสองดังกล่าวไปอย่างละ 1 ม้วน โดยเหตุการณ์ทั้งหมดในวันนัดพร้อมนี้ได้เกิดขึ้นต่อหน้านางวัลยารองจ่าศาล ซึ่งในวันนัดพร้อมนั้นนางวัลยายังขอให้บุคคลที่มิใช่คู่ความหรือพยานที่เกี่ยวข้องออกไปจากห้องพิจารณาดังกล่าว อีกทั้งยังให้หันหน้าจอโทรทัศน์ที่ใช้เปิดเทปวีดีทัศน์ดังกล่าวหลบจากทิศทางของประตูทางเข้าห้องพิจารณาของศาล เพื่อมิให้สื่อมวลชนหรือบุคคลอื่นผู้ไม่เกี่ยวข้องดูหรือใช้กล้องถ่ายรูปหรือกล้องบันทึกภาพวีดีทัศน์บันทึกภาพได้ ประกอบกับในวันนัดพร้อมนั้นผู้ร้องที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นโดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะทนายความของผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้เรียงและพิมพ์ ดังนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะทนายความของผู้ร้องที่ 1 ที่มีหน้าที่จะต้องใส่ใจในคำสั่งทั้งปวงของศาลในคดีที่ตนรับว่าความได้ตรวจสอบสรรพเอกสารในสำนวนคดีนี้มาแล้วโดยละเอียด จะอ้างว่าตนไม่ทราบคำสั่งศาลที่ให้ดูและฟังเทปดังกล่าวเป็นการลับไม่ได้ แต่ต่อมากลับปรากฏว่าในวันที่ 29 พฤษภาคม 2544 เวลา 7.05 นาฬิกา ได้มีการเผยแพร่โฆษณาภาพและเสียงของเทปวีดีทัศน์ดังกล่าวในรายการ (สด) “ห้องข่าวรับอรุณ” ทางสถานีโทรทัศน์ยูบีซี 8 เนชั่นแช็นเนล ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลที่ห้ามอันเป็นการละเมิดอำนาจศาล และเมื่อเสร็จสิ้นการเผยแพร่ภาพของเทปวีดีทัศน์ดังกล่าว ก็มีการสัมภาษณ์ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะทนายความของผู้ร้องที่ 1 โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นผู้ดำเนินรายการต่อเนื่องกันทันที ซึ่งการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อเท็จจริงในเทปวีดีทัศน์และข้อเท็จจริงในคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกดังกล่าวข้างต้น และข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ 1 1978/2543 ระหว่างพันเอกหญิงคุณหญิงอรชร ที่ 1 พันโทอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่ 2 และพันตรีณัฐพร ที่ 3 โจทก์ กับนางอรุณวรรณหรืออัมพาพันธ์หรือถนัดสร้างหรือคงสมพงษ์หรือคงสมบัติหรือธเนศเดชสุนทร ที่ 1 กับพวกรวม 12 คน จำเลยของศาลชั้นต้น ข้อหาหรือฐานความผิดเพิกถอนนิติกรรม เรียกคืนทรัพย์สิน สินสมรสและมรดก หรือชดใช้ราคากับดอกผล ซึ่งคดีฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ยังไม่มีการสืบพยานแต่อย่างใด โดยผู้กล่าวหา เห็นว่าการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมีถ้อยคำข้อความที่ก้าวล่วงเข้ามาในการพิจารณาคดี มีลักษณะเป็นการชี้นำและแทรกแซงการพิจารณาคดีของศาล ทำให้คู่ความอีกฝ่ายได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียงซึ่งเทปบันทึกภาพและบทสัมภาษณ์ในรายการ “ห้องข่าวรับอรุณ” ดังกล่าวได้ออกอากาศเผยแพร่ในวันเดียวกันหลายรอบรายละเอียดปรากฏตามบทสัมภาษณ์ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และตารางเวลาออกอากาศในหนังสือ (ยูบีซีแม็กกาซีน) ที่ได้แนบมาพร้อมคำร้องเรียนของผู้กล่าวหา ต่อมาผู้กล่าวหาได้ติดต่อสั่งซื้อเทปบันทึกภาพและบทสัมภาษณ์ในรายการ “ห้องข่าวรับอรุณ” จากทางบริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของรายการ รายละเอียดปรากฏตามใบเสร็จรับเงินของบริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด และม้วนเทปบันทึกภาพ 1 ม้วน ที่ได้แนบมาพร้อมคำร้องเรียนของผู้กล่าวหา นอกจากนี้ผู้กล่าวหาทราบจากคำให้การของผู้ร้องที่ 1 ในคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกว่า เทปวีดีทัศน์ที่ศาลสั่งห้ามเผยแพร่ดังกล่าวมีต้นฉบับอยู่ที่ศาลชั้นต้นจำนวน 1 ม้วน เท่านั้น โดยผู้กล่าวหาเชื่อว่าก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้คัดลอกสำเนาเทปวีดีทัศน์ดังกล่าว ไม่น่ามีสำเนาเทปวีดีทัศน์อยู่ ณ ที่ใด ดังนั้น ภายหลังที่ศาลอนุญาตให้คัดลอกสำเนาเทปวีดีทัศน์ดังกล่าวแล้ว จึงควรมีสำเนาเทปวีดีทัศน์อยู่ที่ทนายความผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 คนละ 1 ม้วนเท่านั้น ประกอบกับการพิจารณาถ้อยคำในบทสัมภาษณ์ระหว่างผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ผู้ดำเนินรายการกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เห็นได้ชัดว่าการสัมภาษณ์ดังกล่าวได้ตระเตรียมบทสัมภาษณ์กันไว้ล่วงหน้า นอกจากนี้ผู้กล่าวหายังได้รับการยืนยันว่าเทปวีดีทัศน์และบทสัมภาษณ์ในรายการ “ห้องข่าวรับอรุณ” ดังกล่าวเป็นการนำมาออกอากาศเป็นรายแรก ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในฐานะผู้ดำเนินรายการ “ห้องข่าวรับอรุณ” จึงน่าจะได้รับสำเนาเทปวีดีทัศน์ดังกล่าวซึ่งศาลสั่งห้ามเผยแพร่มาจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อันเป็นการกระทำที่ละเมิดอำนาจศาลโดยตรงและทำให้ผู้กล่าวหาและครอบครัววงศ์ตระกูลได้รับความเสียหาย ดังนั้น ผู้กล่าวหาจึงขอศาลได้โปรดดำเนินการไต่ส่วนคำร้องเรียนขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้ต่อไป
ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นกรณีกล่าวหาว่ามีการละเมิดอำนาจศาล จึงให้นัดไต่สวน
ระหว่างไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ตามข้อกล่าวหาจริง และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แถลงรับข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2544 ได้มีการเผยแพร่ภาพตามที่มีการกล่าวหากันจริง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 30 จำคุก 6 เดือน และปรับ 500 บาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีอาชีพเป็นหลักและสุจริตประกอบกับไม่เคยถูกลงโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากนี้ให้ยก
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาตามฎีกาผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 30 ตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 บัญญัติว่า “ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว อำนาจเช่นนี้ ให้รวมถึงการสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญ หรือในทางประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร” และมาตรา 31 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ( 1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย… (2) ฯลฯ (4) …” จากบทบัญญัติดังกล่าวการที่ศาลจะออกข้อกำหนดใด ๆ ตามมาตรา 30 ได้จะต้องเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 ประการ คือ ออกข้อกำหนดใด ๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในศาลเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็วประการหนึ่ง และออกข้อกำหนดใด ๆ โดยสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทางประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรประการที่สอง แต่ตามทางนำสืบและตามภาพถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมาย ผ.1 ไม่ปรากฏว่ามีกรณีที่เห็นจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาลหรือมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทางประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นออกข้อกำหนดตามมาตรา 36 (2) ตามภาพถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมาย ผ.1 ก็ไม่ใช่การออกข้อกำหนดตามมาตรา 30 แต่อย่างใด เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาที่ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นำเทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงที่คัดลอกสำเนาจากเทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงหมาย ร.35 และ ร.36 ไปให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เปิดเผยหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 30 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
อนึ่งปัญหาที่ว่า การฝ่าฝืนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ออกข้อกำหนดตามมาตรา 36 (2) จะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่นั้น ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัย จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยแต่อย่างใด
พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.