คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 891/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้ถูกรถยนต์ที่จำเลยที่2รับประกันภัยค้ำจุนพุ่งชนได้รับความเสียหายโจทก์ได้เสียเงินซ่อมแซมรถยนต์เก๋งไปแล้วจึงขอรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันมาฟ้องจำเลยที่1ให้รับผิดในฐานะนายจ้างของผู้ขับรถยนต์คันที่ก่อเหตุละเมิดและให้จำเลยที่2ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนดังนั้นการรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยที่1และที่2จึงแตกต่างกันจำเลยที่1จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะนายจ้างของผู้ทำละเมิดซึ่งมีอายุความ1ปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448วรรคแรกส่วนจำเลยที่2จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันวินาศภัยมีอายุความ2ปีนับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา882วรรคแรกอายุความฟ้องจำเลยที่1และที่2สามารถแยกออกจากกันได้เมื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา295บัญญัติให้เรื่องอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้นฉะนั้นการฟ้องร้องให้จำเลยที่1รับผิดในฐานะนายจ้างของผู้ทำละเมิดขาดอายุความ1ปีจึงย่อมเป็นคุณเฉพาะแต่จำเลยที่1ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องให้จำเลยที่2รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ2ปีนับแต่วันวินาศภัยคดีนี้ความรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยเกิดขึ้นเมื่อวันที่24ตุลาคม2536โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่27ตุลาคม2537เป็นการฟ้องภายในเวลา2ปีนับแต่วันวินาศภัยการฟ้องร้องจำเลยที่2จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 7อ-3493 ของนายสมศักดิ์ ยิ่งสิทธิศักดิ์คง เมื่อวันที่24 ตุลาคม 2536 เวลา 11.30 นาฬิกา นายประทีป บัวชุ่มซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน10-1576 นครสวรรค์ ที่เอาประกันภัยค้ำจุนไว้แก่จำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้พุ่งชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้นำรถยนต์ไปซ่อมโดยต้องเสียค่าซ่อมและค่าอะไหล่ไปเป็นเงิน 15,880 บาท โจทก์จึงเป็นผู้รับช่างสิทธิมาเรียกร้องเอาค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าซ่อมรถยนต์พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวน 16,947 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 15,880 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7อ-3493 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นนายจ้างของนายประทีป บัวชุ่ม ผู้ขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน10-1576 นครสวรรค์ และเหตุแห่งคดีนี้มิได้เกิดจากความประมาทของนายประทีป ค่าเสียหายสูงเกินความจริง ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความโดยโจทก์ฟ้องเกิน 1 ปีนับแต่วันละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลย ที่ 1 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันวินาศภัยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนขาดอายุความแล้วหรือไม่เนื่องจากคดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก ฉะนั้น การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวตามฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วในสำนวนตามมาตรา 238 และ 247 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน7อ-3493 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายสมศักดิ์ ยิ่งสิทธิศักดิ์คงผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 10-1576 นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2536รถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้ถูกรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนพุ่งชนได้รับความเสียหาย โจทก์ได้เสียเงินซ่อมแซมรถยนต์เก๋งไปเป็นเงิน 15,880 บาท จึงขอรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันมาฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะนายจ้างของผู้ขับรถยนต์คันที่ก่อเหตุละเมิดและให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน เห็นว่าการรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยทั้งสองแตกต่างกัน จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะนายจ้างของผู้ทำละเมิด ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคแรก ส่วนจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันวินาศภัยมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ตามมาตรา 882 วรรคแรก จึงเห็นได้ว่าอายุความฟ้องจำเลยทั้งสองสามารถแยกออกจากกันได้ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 295 บัญญัติให้เรื่องอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ฉะนั้น การฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างของผู้ทำละเมิดจึงขาดอายุความ 1 ปี ย่อมเป็นคุณเฉพาะแต่จำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยคดีนี้ความรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยเกิดขึ้นเมื่อวันที่24 ตุลาคม 2536 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2537 เป็นการฟ้องภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย การฟ้องร้องจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนปัญหาเรื่องเกี่ยวกับค่าเสียหายว่ามีเพียงใดศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยไว้ แต่คู่ความได้แถลงในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2538 รับข้อเท็จจริงตามฟ้อง ให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องอายุความและค่าเสียหาย จึงเห็นสมควรวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายไปโดยไม่ย้อนสำนวนอีกได้ความจากนายพรชัย ตั้งเจริญชัยพัฒนา พยานโจทก์ว่า พยานเป็นผู้รับซ่อมรถยนต์เก๋งคันที่ถูกชนซึ่งโจทก์ส่งไปให้ซ่อมแซม พยานซ่อมรถยนต์จนเสร็จและได้รับค่าจ้างไปแล้ว ส่วนค่าอะไหล่โจทก์เป็นผู้ซื้อเองโจทก์มีหลักฐานใบสั่งจ่ายเงินค่าแรงซ่อมรถจำนวน 6,479 บาทและค่าซื้ออะไหล่รถจากบริษัทชัยทิพย์อะไหล่ยนต์ จำกัดอีกจำนวน 9,401 บาท รวมเป็นเงิน 15,880 บาท ฟังได้ว่าโจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถตามจำนวนนี้ จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 15,880 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จ่ายเงินค่าซ่อมแซมรถไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share