คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยว่าอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา193 ทวิ หรือไม่ต้องพิจารณาความผิดแต่ละกระทง แม้ความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้าม ศาลก็ต้องถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม
เอกสารที่นำสืบเป็นพยาน ไม่มีบังคับว่าต้องนำผู้ทำเอกสารมาสืบประกอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยแจ้งความเท็จ ทำหลักฐานเท็จ ทุจริตต่อหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 157, 162, 172, 179, 200, 267, 310,83 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2502 มาตรา 13 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยข้อหาตามมาตรา 137, 172, 179, 267, 310ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิข้อหาตามมาตรา 157, 162, 200 เห็นว่าไม่มีมูลความผิด พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517มาตรา 3 ใช้บังคับในกรณีที่จำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นจำเลยแล้วเท่านั้น แต่คดีนี้ยังอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาล โจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ทั้งเอกสารหมาย จ.1 (รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีประจำวันที่ 2 กันยายน 2519 ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอวัฒนานคร) และเอกสารหมาย ล.1 (บันทึกการจับกุมที่จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4ได้บันทึกเมื่อจับกุมโจทก์) ผู้จดหรือผู้เขียนข้อความมิได้มาสืบประกอบจึงรับฟังไม่ได้ คดีของโจทก์พอมีมูลที่จะรับไว้พิจารณา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าการกระทำที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 179, 267 และ 310นั้นเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 157, 162 และ 200ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยซึ่งมีอัตราโทษจำคุกเกินกว่า 3 ปี เมื่อกระทงความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และความผิดในบทหนักมีกำหนดโทษจำคุกเกินกว่า 3 ปี หรือปรับเกินกว่า 6,000 บาทแล้วถึงแม้ความผิดบทอื่นในกระทงความผิดเดียวกันจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ต้องถือว่าในกระทงความผิดนั้นทุกบทไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เพราะการที่จะพิจารณาว่าจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวินั้น จะต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิด ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 95/2521 คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดลำพูน โจทก์ นายพิบูลย์ น้อยมะกอก กับพวก จำเลยที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,172, 179, 267 และ 310 นั้น หาชอบไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

ฎีกาของโจทก์ที่ว่า เอกสารหมาย จ.1 และ ล.1 ศาลจะรับฟังได้หรือไม่นั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 บัญญัติว่า เอกสารซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ ส่วนวิธีการนำเอกสารมาสืบ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 238 ถึง 240 ก็ไม่ได้บังคับว่าต้องนำผู้เขียนหรือผู้จดมาเบิกความประกอบ จึงชอบที่ศาลจะฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

เมื่อวินิจฉัยว่าความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 172, 179, 267 และ 310 ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามบทความผิดดังกล่าว เห็นควรให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาล

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี”

Share