แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกง ย่อมนำไปสู่การฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ไม่ว่าโจทก์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืนโดยพนักงานอัยการดำเนินการแทนแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์ไม่ต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 91 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีดังกล่าว
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 จำคุก 1 ปี นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.797/2556 ของศาลอาญากรุงเทพใต้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5632/2559 ของศาลแขวงพระนครเหนือ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ระหว่างปี 2520 ถึงเดือนสิงหาคม 2551 จำเลยทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เรียกร้องให้ชำระเงินตามมูลหนี้เช็ค 9 ฉบับ ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าระหว่างที่จำเลยทำงานกับโจทก์ จำเลยยักยอกเงินโจทก์ 93,000,000 บาท เศษ วันที่ 29 ตุลาคม 2552 โจทก์จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาฉ้อโกง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2553 จำเลยจดทะเบียนยกที่ดิน 17 แปลง ตามฟ้องให้บุตรชายและบุตรสาวของจำเลย หลังจากนั้นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้ชำระหนี้ละเมิดที่จำเลยยักยอกเงินโจทก์ แต่เนื่องจากเป็นการฟ้องผิดศาลโจทก์จึงขอถอนฟ้องและฟ้องจำเลยตามมูลหนี้ดังกล่าวใหม่ที่ศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2553
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพฤติการณ์จำเลยยืนยันและแสดงให้เห็นว่าโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้ และจำเลยรู้แล้วว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้ นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น เจ้าหนี้ต้องใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว และลูกหนี้รู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิดังกล่าวแล้วยังโอนทรัพย์สินให้ผู้อื่น โดยมีมูลเหตุจูงใจเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาฉ้อโกงเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ก่อนวันที่ 28 มกราคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยโอนที่ดินให้แก่บุตรทั้งสองของจำเลย การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ย่อมนำไปสู่การยื่นฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ซึ่งรวมถึงการเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดแทนโจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 อีกทั้งเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดี โจทก์จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น โดยการร้องทุกข์ของโจทก์ ไม่ว่าต่อมาโจทก์จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืนโดยพนักงานอัยการดำเนินการแทนแล้ว โจทก์ไม่จำต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว เมื่อปรากฏว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำเข้าสืบเมื่อวันที่ 26 และ 27 พฤศจิกายน 2552 เพื่อหักล้างพยานหลักฐานของจำเลยในคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยนำสืบให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตยักยอกเงินโจทก์ และโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงรู้แล้วว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล การที่หลังจากนั้นจำเลยโอนที่ดินให้บุตรทั้งสองของจำเลยจึงเป็นไปเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น