แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุในคดีอาญาคดีก่อนว่า ระหว่างวันที่ 18พฤศจิกายน 2536 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2536 มีคนร้ายลักเอาเช็คของผู้เสียหายไป ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2536 จำเลยนำเช็คของผู้เสียหายที่ถูกลักไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารโดยตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยเป็นคนร้ายลักเช็คของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้าง หรือมิฉะนั้นตามวันเวลาดังกล่าวถึงวันที่จำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร จำเลยรับของโจรซึ่งเช็คของผู้เสียหายที่ถูกลักไปไว้จากคนร้าย และจำเลยช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย และเอาไปเสียซึ่งเช็คในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือประชาชน ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2536 จำเลยได้ปลอมเช็คและใช้เช็คฉบับดังกล่าวของผู้เสียหาย ยื่นเรียกเก็บเงินต่อธนาคารเพื่อถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย เห็นได้ว่าวันเวลาเกิดเหตุในคดีก่อนและคดีนี้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน พฤติการณ์ของจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้บ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์จะเบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหายเป็นสำคัญการที่จำเลยผู้เป็นลูกจ้างรับของโจรและเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายผู้เป็นนายจ้างอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง,188 นั้น ก็เพื่อนำไปทำปลอม แล้วนำไปเบิกถอนเงินจากธนาคารในช่วงเวลาเดียวกันจึงเป็นเจตนาเดียวกันนั่นเอง ดังนั้น การกระทำของจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้จึงเป็นความผิดกรรมเดียว การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็น 2 คดี เมื่อจำเลยถูกฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในคดีอาญาก่อนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดกรรมเดียวกันเป็นคดีนี้อีก เพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266, 268 และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2787/2537 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266,268 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอม ตามมาตรา 268 เพียงกระทงเดียว จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4461/2537 ของศาลชั้นต้น และที่จำเลยขอให้ศาลรอการลงโทษนั้นเนื่องจากคดีเป็นความผิดร้ายแรง ประกอบกับมีอัตราโทษสูงเกินกว่าที่จะพิจารณารอการลงโทษได้ จึงไม่อาจรอการลงโทษให้ได้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยกรอกข้อความ วันเวลาสั่งจ่ายจำนวนเงินลงในเช็คของบริษัทผู้เสียหายที่ 1 และลงลายมือชื่อประทับตราของบริษัทผู้เสียหายที่ 1 แล้วนำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับข้อหาความผิดฐานรับของโจรเช็คของบริษัทผู้เสียหายที่ 1 และเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ที่โจทก์ได้ฟ้องและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4461/2537 ของศาลชั้นต้นในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่าจำเลยเคยถูกโจทก์ฟ้องในข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างและเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นหรือรับของโจรซึ่งเช็คหมายเลข 1302550 ของบริษัทไทยวณิชโทรภัณฑ์และอิเล็คโทรนิคส์จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4461/2537 ของศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 357วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ต่อมาจำเลยถูกฟ้องเป็นคดีนี้ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมซึ่งเป็นเช็คฉบับเดียวกัน เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2787/2537 หมายเลขแดงที่ 4461/2537 ว่าระหว่างวันที่18 พฤศจิกายน 2536 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2536 มีคนร้ายบังอาจลักเอาไปเสียซึ่งเช็คของบริษัทไทยวณิชโทรภัณฑ์และอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด ผู้เสียหายไป ต่อมาวันที่ 2ธันวาคม 2536 เวลากลางวัน จำเลยได้นำเช็คของผู้เสียหายที่ถูกลักไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คทั้งนี้โดยตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวจำเลยได้เป็นคนร้ายลักเอาไปเสียซึ่งเช็ค 1 ฉบับ อันเป็นเอกสารของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้าง หรือมิฉะนั้นตามวันเวลาดังกล่าวถึงวันที่จำเลยนำเช็คของกลางไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค จำเลยได้บังอาจรับของโจรซึ่งเช็คของกลางของผู้เสียหายที่ถูกลักไปไว้จากคนร้าย และจำเลยได้บังอาจช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย และเอาไปเสียซึ่งเช็คของกลางอันเป็นเอกสารของผู้เสียหายในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย หรือประชาชน ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2536 เวลากลางวันจำเลยได้บังอาจปลอมเช็คและใช้เช็คฉบับดังกล่าวของบริษัทผู้เสียหายที่ 1 ยื่นเรียกเก็บเงินต่อธนาคารตามเช็คเพื่อถอนเงินจากบัญชีของบริษัทผู้เสียหายที่ 1 จะเห็นได้ว่าวันเวลาเกิดเหตุในคดีก่อนและคดีนี้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน พฤติการณ์ของจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้บ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์จะเบิกถอนเงินจากบัญชีของบริษัทผู้เสียหายที่ 1ที่ธนาคารตามเช็คเป็นสำคัญ การที่จำเลยผู้เป็นลูกจ้างรับของโจรและเอาไปเสียซึ่งเช็คของบริษัทผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคหนึ่ง, 188 นั้น ก็เพื่อนำไปทำปลอม แล้วนำไปเบิกถอนเงินจากธนาคารตามเช็คในช่วงเวลาเดียวกันจึงเป็นเจตนาเดียวกันนั่นเอง ดังนั้นการกระทำของจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้ จึงเป็นความผิดกรรมเดียว แต่โจทก์ได้แยกฟ้องจำเลยเป็น 2 คดีเมื่อจำเลยถูกฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4461/2537 ของศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะนำคดีมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดกรรมเดียวกันเป็นคดีนี้อีก เพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง