คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8902/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และจำเลยประกอบด้วยคำว่าZENTEL และ ZENTAB เป็นสาระสำคัญ ตัวอักษรต่างกันเพียง 2 ตัวสุดท้ายลักษณะการวางรูปแบบและขนาดตัวอักษรเหมือนกัน ส่วนเสียงเรียกขานก็แตกต่างกันเล็กน้อยเช่นกัน โดยใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ทั้งสาธารณชนจำนวนมากมิได้มีความรู้ในภาษาอังกฤษหรือตัวอักษรโรมัน ย่อมยากที่จะสังเกตข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ ถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า”ZENTEL, กับรูปประดิษฐ์ผู้ชายผู้หญิงและเด็กชาย 4 คน” และอักษรไทยคำว่า “เซนเทล” โดยใช้กับสินค้าจำพวกที่ 5 ได้แก่ ยารักษาโรคพยาธิที่โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายมาเป็นเวลาช้านายโดยได้โฆษณาสินค้าดังกล่าวในประเทศต่าง ๆ จนแพร่หลายและโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า”ZENTEL กับรูปประดิษฐ์ผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กรวม 4 คน” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม2527 อักษรโรมันในคำว่า “ZENTEL” และอักษรไทยคำว่า “เซนเทล” เมื่อวันที่ 29มิถุนายน 2530 จำเลยได้ใช้และยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”ZENTAB” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 5 ได้แก่ยารักษาโรคพยาธิเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม2538 โจทก์จึงได้ยื่นคำคัดค้านนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยยกคำคัดค้านและยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามลำดับโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า ZENTEL ดีกว่าเครื่องหมายการค้าคำว่าZENTAB ของจำเลย และสั่งให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 295548 หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้า ZENTAB และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 200,000 บาท ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะถอนคำขอและเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ZENTAB อ่านว่าเซนแทบ ซึ่งมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงชอบแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “ZENTAB” ของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “ZENTEL” ของโจทก์หรือไม่ และใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่ากัน เห็นว่า เครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และจำเลยประกอบด้วยคำว่า ZENTEL และ ZENTAB เป็นสาระสำคัญซึ่งคำ 2 คำ ดังกล่าวต่างใช้ตัวอักษรโรมัน 6 ตัว และเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกัน มีตัวอักษรที่เรียง 4 ตัวแรก คือ “ZENT”เหมือนกัน ต่างกันเพียงอักษรสองตัวท้าย คือ “EL” กับ “AB” เท่านั้น ทั้งลักษณะของการวางรูปแบบตัวอักษรและขนาดของตัวอักษรที่เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยเหมือนกันนับได้ว่าลักษณะของคำ 2 คำ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านี้มีส่วนแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยเรียกขานว่า “เซนเทล” กับ “เซนแทบ” ตามลำดับซึ่งแตกต่างกันเล็กน้อยเช่นกัน เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ใช้คำ 2 คำดังกล่าวเป็นสาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าซึ่งมีรูปลักษณะและสำเนียงเรียกขานแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยและใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันและเมื่อคำนึงถึงว่าสาธารณชนจำนวนมากมิได้มีความรู้ในภาษาอังกฤษหรือตัวอักษรโรมัน ย่อมยากที่จะสังเกตถึงข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจึงอาจสับสนหลงผิดได้ ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพึงจะรับจดทะเบียนให้ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) จำเลยย่อมไม่มีสิทธิใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ห้ามจำเลยใช้และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ZENTAB ต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ZENTAB

Share