คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 89/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ใช้ในการกระทำความผิดมาเป็นของกลาง ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่าอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายไม่ทราบว่ามีหมายเลขทะเบียนหรือไม่ มิได้ให้การว่า ได้ใช้อาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนยิงผู้ตาย ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคแรก อันเป็นบทลงโทษสำหรับกรณีที่เป็นอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการไม่ชอบ ต้องปรับบทลงโทษตาม มาตรา 72 วรรคสาม ซึ่งเป็นเพียงการมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายส่วนข้อหาความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลอุทธรณ์มิได้ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ซึ่งโจทก์ขอมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขโดยปรับบทลงโทษตามมาตรา 8 ทวิ วรรคแรก,72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 72 ทวิ วรรคสองซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90และเมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 พาไปเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นผลร้ายน้อยกว่า ศาลฎีกาย่อมกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตลดลงจากที่ศาลอุทธรณ์กำหนดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4), 371, 83, 84, 91, 33 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 3, 6, 7 ริบของกลาง นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 204/2517 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4072/2533ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อทั้งสองคดี
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ของกลางให้ริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ทางสาธารณะ จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 54 ปี จำเลยที่ 1รับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 36 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้พาอาวุธปืนติดตัว ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นั้น เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ใช้ในการกระทำความผิดมาเป็นของกลางชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่า อาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายไม่ทราบว่ามีหมายเลขทะเบียนหรือไม่ จำเลยที่ 1 มิได้ให้การในชั้นสอบสวนว่า ได้ใช้อาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนยิงผู้ตายดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 72 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทลงโทษสำหรับกรณีที่เป็นอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการไม่ชอบ ต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 72 วรรคสาม ซึ่งเป็นเพียงการมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย ส่วนข้อหาความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ศาลอุทธรณ์มิได้ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ซึ่งโจทก์ขอมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขโดยปรับบทลงโทษตามมาตรา 8 ทวิวรรคแรก, 72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และเมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 พาไปเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นผลร้ายน้อยกว่า จึงเห็นสมควรกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวลดลงจากที่ศาลอุทธรณ์กำหนดด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72 วรรคสาม,72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ในกระทงความผิดฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษตามมาตรา 7, 72 วรรคสาม จำคุก 1 ปี ในกระทงความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ให้ลงโทษตามมาตรา 8 ทวิ วรรคแรก, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วรวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 34 ปี 8 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share