คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 89/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องกัน บิดามารดาโจทก์จำเลยสมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แม้บิดาโจทก์จำเลยจะถึงแก่กรรม ขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2477ใช้บังคับการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาก็ต้องบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 คือให้คืนสินเดิมแก่แต่ละฝ่ายที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่มารดามีมาก่อนแต่งงานกับบิดาจึงเป็นสินเดิมของมารดา มารดาซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวย่อมมีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลยได้ พินัยกรรมในส่วนที่ดินพิพาทจึงมีผลสมบูรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายเป้กับนางช่วง นวลจันทร์ สมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือนางสมบูรณ์ นวลจันทร์ โจทก์และจำเลย ขณะแต่งงานนายเป้มีสินส่วนตัวคนเดียว คือเงิน 12 บาท นายเป้กับนางช่วงทำมาหาทรัพย์สินได้ร่วมกันคือ ที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ นายเป้ถึงแก่กรรมเมื่อประมาณ 27 ปีมาแล้ว นางช่วง นางสมบูรณ์ โจทก์และจำเลย ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวร่วมกัน ยังไม่ได้แบ่งปันกันต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2529 และวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2529นางช่วงและนางสมบูรณ์ได้ถึงแก่กรรมตามลำดับ ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อนายเป้ตายจะต้องแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามกฎหมายเก่า ตกเป็นของนางช่วง 1 ส่วน เนื้อที่ 10 ไร่ ตกเป็นของนายเป้ 2 ส่วนเนื้อที่ 20 ไร่ ซึ่งทรัพย์สินส่วนแบ่งของนายเป้ทรัพย์มรดกตกได้แก่นางช่วง นางสมบูรณ์ โจทก์และจำเลยคนละ 1 ส่วนแต่นางช่วงและนางสมบูรณ์ ตายไปก่อนมีการแบ่งทรัพย์มรดกทรัพย์มรดกของนายเป้ ทั้งหมดจึงต้องตกได้แก่โจทก์จำเลยคนละครึ่ง โดยจะได้ส่วนแบ่งที่ดินคนละประมาณ 10 ไร่ ครั้งเมื่อนางช่วงถึงแก่กรรมจึงปรากฏว่า นางช่วงได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งหมด พินัยกรรมของนางช่วงจึงสมบูรณ์เฉพาะส่วนที่ทรัพย์นั้นจะตกได้แก่นางช่วงคือ 1 ใน 3 ส่วนของที่ดินทั้งแปลงเท่านั้น อีก 2 ใน 3 ส่วน หรือที่ดินเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายเป้จะต้องนำมาแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่งขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมของนางช่วงที่ระบุยกที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 257 หมู่ที่ 9ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี หมดทั้งแปลงให้แก่จำเลย มีความสมบูรณ์เพียง 1 ใน 3 ส่วน ส่วนทรัพย์อีก 2 ใน 3ส่วนของที่ดินเป็นโมฆะ ให้นำเอาทรัพย์ส่วนนั้นมาแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน จำเลยให้การว่า โจทก์ จำเลยและนางสมบูรณ์เป็นบุตรนายเป้กับนางช่วง นายเป้ไม่มีสินส่วนตัว ส่วนนางช่วงมีสินส่วนตัวคือที่ดินที่ได้รับมรดกจากบิดาก่อนแต่งงาน ที่โจทก์ฟ้องว่า นายเป้กับนางช่วงทำมาหาทรัพย์ได้ร่วมกัน คือที่ดินแปลงพิพาทนั้นไม่เป็นความจริง ที่ดินแปลงพิพาทเดิมเป็นของบิดานางช่วง เมื่อบิดานางช่วงถึงแก่กรรมไปในปี พ.ศ. 2471 นางช่วงได้เข้าครอบครองทำประโยชน์แทนในฐานะทายาทผู้รับมรดกและได้ไปแจ้งแสดงสิทธิในการครอบครองเมื่อเดือนมีนาคม 2498 ที่ดินแปลงพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของนางช่วง นางช่วงย่อมมีสิทธิและอำนาจที่จะทำพินัยกรรมยกให้จำเลย พินัยกรรมของนางช่วงจึงสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะบางส่วนตามฟ้องของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่ง ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่านายเป้ นางช่วง นวลจันทร์ ได้แต่งงานและอยู่กินด้วยกันมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2477 มีบุตรด้วยกัน 3 คนคือ นางสมบูรณ์ นวลจันทร์ โจทก์ และจำเลย นางช่วงมารดาโจทก์จำเลยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2529 นายเป้ถึงแก่กรรมก่อนนางช่วง นางสมบูรณ์ถึงแก่กรรมหลังนางช่วงปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า นางช่วงผู้ตายมีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยหรือไม่โจทก์เบิกความว่า ทราบจากบิดาว่าขณะที่บิดามารดาแต่งงานกันมารดาไม่มีทรัพย์สิน แต่บิดามีเงินมา 3 ตำลึง ตามคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าว ไม่ปรากฏว่านายเป้จงใจบอกให้โจทก์ทราบ หรือเพียงแต่พูดเปรยขึ้นมาเองโจทก์เบิกความปากเดียวไม่มีพยานอื่นเบิกความสนับสนุนว่าเป็นความจริงเช่นนี้หรือไม่ สำหรับนายแพง ดวงเพชร สามีโจทก์เบิกความว่า ทราบจากนายเป้ว่าที่พิพาททำมาหาได้ด้วยกัน เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ และที่โจทก์อ้างว่า นายทองจันทร์ จันทะพงษ์และนายจอม กองมี เคยเล่าให้ฟังนั้น ก็ไม่ปรากฏว่า พยานทั้งสองได้เบิกความว่าเล่าให้โจทก์ฟังถึงเรื่องนี้และไม่ปรากฏรายละเอียดว่ารู้เห็นอย่างไร นายจอมว่า เห็นมีเงิน 12 บาท เท่านั้นส่วนนายทองจันทร์ว่า เห็นเงินในถุงซึ่งฝ่ายเถ้าแก่นายเป้เปิดออกมา หากพยานทั้งสองไปด้วยกันการรู้เห็นน่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน ขณะนั้นนายทองจันทร์อายุเพียง 13 ปี ไม่น่าจะมีความสนใจเหมือนผู้ใหญ่โดยทั่ว ๆ ไป คำพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้ไม่น่าเชื่อถือ ข้ออ้างของโจทก์ข้อนี้จึงเลื่อนลอยข้อที่โจทก์อ้างว่านาพิพาทบิดามารดาโจทก์จำเลยทำมาหาได้ร่วมกันและโจทก์ได้ซื้อเพิ่มเติมจากนางบัวรถ พั่วแพง นั้น นางบัวรถพยานโจทก์ก็ไม่ได้เบิกความว่าโจทก์เคยซื้อนาไปจากนางบัวรถ กลับระบุว่าที่พิพาทจดที่ดินของนายแผน ส่วนที่นายจอมซึ่งเป็นพี่นางช่วงเบิกความว่านางช่วงไม่มีทรัพย์สิน นายเป้และนางช่วงได้ก่นสร้างนาพิพาทมาด้วยกัน แต่เมื่อตอบคำถามค้านจำเลยกลับยอมรับว่าบิดามีมรดกแต่ไม่ทราบว่าตกได้แก่ผู้ใด คำเบิกความของนายจอมมีพิรุธไม่น่าเชื่อ เพราะการที่บิดามีทรัพย์มรดกตนย่อมจะมีส่วนได้อยู่ด้วย น่าจะทราบเรื่องนี้ดี นอกจากนี้พยานโจทก์ได้แก่ นายทัด บุรุษภักดี นายจันทร์ พงษ์พิลา ผู้เช่านาพิพาทกลับเบิกความว่า เช่านาจากนางช่วงมิได้ยืนยันว่าที่พิพาทเป็นของผู้ใด คำเบิกความของพยานทั้งสองปากดังกล่าวจึงไม่อาจฟังประกอบข้ออ้างของโจทก์ให้มีน้ำหนักขึ้นได้ และการที่โจทก์อ้างเอกสารใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่มาพร้อมฎีกานั้น เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88ศาลฎีกาไม่รับฟัง สำหรับจำเลย มีจำเลย นายแผง ดวงเพชร และนายเผย ฤทธิชัยเบิกความว่านาพิพาทเป็นของนางช่วงมารดาจำเลยนางช่วงได้แจ้งสิทธิครอบครองและเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของตนเอง ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1, ล.4 และ ล.5 เนื่องจากนางช่วงมีที่ดินหลายแปลงนอกจากที่นาแล้วยังมีบ้านด้วยการแจ้งการเสียภาษีบำรุงท้องที่บางทีก็ไม่ระบุชัดแจ้งสำหรับที่ดินนาพิพาทที่นางช่วงแจ้งสิทธิครอบครองนั้น ได้ระบุการได้มาว่าเป็นมรดก ซึ่งฟังประกอบข้อต่อสู้ของจำเลยได้ว่าที่พิพาทเป็นของนางช่วงมีมาก่อนแต่งงานกับนายเป้ นอกจากเอกสารสิทธิดังกล่าวจำเลยยังอ้างหนังสือแจ้งอายัดห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่พิพาทที่โจทก์แจ้งต่อนายอำเภอบ้านผือตามเอกสารหมาย ล.6ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวโจทก์ยอมรับว่าที่พิพาทเป็นของนางช่วงโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับเป็นมรดกหากนางช่วงถึงแก่กรรม เห็นว่าจำเลยมีทั้งพยานบุคคลและเอกสารฟังได้ประกอบกันน่าเชื่อถือเชื่อได้ว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์ของนางช่วงมีมาก่อนที่นางช่วงแต่งงานกับนายเป้ จึงเป็นสินเดิมของนางช่วง เมื่อนายเป้และนางช่วงสมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 พ.ศ. 2477 แม้นายเป้จะถึงแก่กรรมขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2477 ใช้บังคับก็ตามแต่การแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยามิใช่ความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสนั้น ดังนั้น จึงต้องบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 68 คือให้ คืนสินเดิมแก่แต่ละฝ่ายนางช่วงซึ่งเป็นเจ้าของที่พิพาทแต่ผู้เดียว ย่อมมีสิทธิทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยได้ พินัยกรรมในส่วนที่พิพาทจึงมีผลสมบูรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share