คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7487/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 มาตรา 38 บัญญัติว่า “กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน… ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน…” ซึ่งจำเลยเป็นองค์การมหาชนที่มิได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดมิให้นำบทบัญญัติเรื่องค่าชดเชยมาใช้บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจด้วย ย่อมมีความหมายว่าจำเลยมีสิทธิไม่จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างในลักษณะเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานก็ตาม แต่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างงาน นายจ้างย่อมมีสิทธิกำหนดหลักเกณฑ์อันเป็นคุณหรือเป็นผลดีแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานดังกล่าวกำหนดไว้ได้ เมื่อจำเลยโดยคณะกรรมการจำเลยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 (3) แห่ง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 กำหนดประโยชน์ตอบแทนอื่นของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง โดยออกระเบียบจำเลยว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง พ.ศ.2555 ประกาศ ณ วันที่ 11 กันยายน 2555 ให้จำเลยจ่ายเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างให้แก่ลูกจ้างเมื่อถูกจำเลยเลิกจ้างด้วยเหตุต่างๆ อันมีลักษณะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเช่นเดียวกันกับการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานทั้งที่จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตอบแทนในลักษณะดังกล่าวแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามกฎหมาย จึงเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์อันเป็นคุณหรือเป็นผลดีแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ จำเลยย่อมต้องผูกพันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว การที่ พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 มาตรา 20 มิได้มีข้อกำหนดให้การออกระเบียบตามมาตรานี้ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีหรือเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรีในกรณีนี้ก็เป็นเพียงกรอบนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติเท่านั้น และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของจำเลยให้เป็นไปตามกฎหมายในขณะนั้น ยับยั้งการใช้ระเบียบดังกล่าวของจำเลยตามความในมาตรา 43 รวมทั้งคณะกรรมการบริหารจำเลยมีมติจ่ายเงินตอบแทนตามระเบียบดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะออกระเบียบจำเลยว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง (ฉบับที่ 2) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2559 ยกเลิกการจ่ายเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างกรณีเลิกจ้างด้วยเหตุอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ก็หามีผลบังคับแก่โจทก์ไม่ เนื่องจากระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับหลังจากที่โจทก์กับจำเลยสิ้นสุดนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างต่อกันแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตอบแทนกรณีเลิกจ้าง 742,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นองค์การมหาชน โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เริ่มปฏิบัติงานวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 จนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเนื่องจากครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างและอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นลูกจ้างของจำเลยตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 มาตรา 35 (2) โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 92,820 บาท วันที่ 11 กันยายน 2555 จำเลยออกระเบียบว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง พ.ศ.2555 หลังจากโจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยเนื่องจากอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ คณะกรรมการบริหารจำเลยมีมติจ่ายเงินตอบแทนที่เป็นเงินชดเชย 742,560 บาท แก่โจทก์ วันที่ 25 ตุลาคม 2559 จำเลยออกระเบียบยกเลิกข้อความที่ให้จ่ายเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างกรณีเกษียณอายุดังกล่าว แล้ววินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 มาตรา 38 บัญญัติให้ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน… ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการให้ประโยชน์ตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างขององค์การมหาชน เมื่อระเบียบของจำเลยว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง พ.ศ.2555 กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ และการออกระเบียบยกเลิกข้อความให้จ่ายเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างกรณีเกษียณอายุดังกล่าวในวันที่ 25 ตุลาคม 2559 เป็นการออกระเบียบหลังจากที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้ว ย่อมไม่อาจนำระเบียบใหม่มาใช้บังคับกับโจทก์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินตอบแทนผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ 742,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัด (วันที่ 23 กรกฎาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติจากเอกสารที่คู่ความเสนอต่อศาลแรงงานกลางว่า วันที่ 5 กันยายน 2555 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีหนังสือแจ้งต่อองค์การมหาชน 37 แห่ง ซึ่งรวมทั้งจำเลยว่า คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 มีมติเห็นชอบแนวทางการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชน ตามมติคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในการประชุมครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ว่า ในกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างนั้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ให้จ่ายค่าชดเชยได้ในกรณีเลิกจ้างก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้างเท่านั้น แต่วันที่ 11 กันยายน 2555 จำเลยกลับออกระเบียบว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง พ.ศ.2555 กำหนดจ่ายเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกษียณอายุเพราะเหตุมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ จึงเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างที่ฝ่าฝืนต่อมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เมื่อจำเลยต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยมติของคณะรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 มาตรา 43 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตอบแทนตามระเบียบของจำเลยที่ประกาศใช้โดยฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีได้ แล้วพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุโดยมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 มาตรา 38 บัญญัติว่า “กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน… ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน…” ซึ่งจำเลยเป็นองค์การมหาชนที่มิได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดมิให้นำบทบัญญัติเรื่องค่าชดเชยมาใช้บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจด้วย ย่อมมีความหมายว่าจำเลยมีสิทธิไม่จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างในลักษณะเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานก็ตาม แต่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างงาน นายจ้างย่อมมีสิทธิกำหนดหลักเกณฑ์อันเป็นคุณหรือเป็นผลดีแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานดังกล่าวกำหนดไว้ได้ เมื่อจำเลยโดยคณะกรรมการจำเลยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 (3) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 กำหนดประโยชน์ตอบแทนอื่นของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง โดยออกระเบียบจำเลยว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง พ.ศ.2555 ประกาศ ณ วันที่ 11 กันยายน 2555 ให้จำเลยจ่ายเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างให้แก่ลูกจ้างเมื่อถูกจำเลยเลิกจ้างด้วยเหตุต่าง ๆ อันมีลักษณะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเช่นเดียวกันกับการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ทั้งที่จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตอบแทนในลักษณะดังกล่าวแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามกฎหมาย จึงเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์อันเป็นคุณหรือเป็นผลดีแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ จำเลยย่อมต้องผูกพันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว การที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 มาตรา 20 มิได้มีข้อกำหนดให้การออกระเบียบตามมาตรานี้ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีหรือเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าว ก็เป็นเพียงกรอบนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติเท่านั้น และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของจำเลยให้เป็นไปตามกฎหมายในขณะนั้น ยับยั้งการใช้ระเบียบดังกล่าวของจำเลยตามความในมาตรา 43 รวมทั้งคณะกรรมการบริหารจำเลยมีมติจ่ายเงินตอบแทนตามระเบียบดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นเงิน 742,560 บาท แล้ว แม้ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2559 จำเลยออกระเบียบจำเลยว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง (ฉบับที่ 2) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2559 ยกเลิกการจ่ายเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างกรณีเลิกจ้างด้วยเหตุอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ก็หามีผลบังคับแก่โจทก์ไม่ เนื่องจากระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับหลังจากที่โจทก์กับจำเลยสิ้นสุดนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างต่อกันแล้ว ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าการออกระเบียบจำเลยว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง พ.ศ.2555 ประกาศใช้โดยฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตอบแทนตามระเบียบจำเลยว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง พ.ศ.2555 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เมื่อเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกจำเลยเลิกจ้างตามระเบียบจำเลยเป็นหนี้เงินที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เป็นพิเศษ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยรับผิดในหนี้ดังกล่าววันใด ถือว่าวันฟ้องเป็นวันทวงถาม จำเลยจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายเงินตอบแทนผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ เป็นเงิน 742,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 ธันวาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share