แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การไฟฟ้านครหลวงโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าเป็นผู้ประกอบการค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) โจทก์ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าเป็นค่าสินค้าเกินกำหนด2 ปี จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์75,570.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน74,637.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์75,570.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน74,637.50 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอใช้ไฟฟ้าที่อาคารชุด จำเลยที่ 4 ตกลงว่าจะชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้โจทก์จนกว่าจะบอกเลิกการใช้ตามคำขอใช้ไฟฟ้าเอกสารหมายจ.5 โจทก์ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้จำเลยที่ 1ตั้งแต่เดือนกันยายน 2535 เรื่อยมา จำเลยที่ 1 ไม่เคยบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าหรือโอนสิทธิการใช้ให้แก่บุคคลใดจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2537 ถึงวันที่ 23เดือนมกราคม 2538 ซึ่งเป็นการจดหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าครั้งสุดท้ายมีการค้าชำระค่ากระแสไฟฟ้าเป็นเงิน 86,637.50 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาจำเลยที่ 4 ทำหนังสือรับสภาพหนี้และขอผ่อนผันการชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ซึ่งจำเลยที่ 4 ชำระหนี้ให้บางส่วนเป็นเงิน 12,000 บาท คงเหลือหนี้ค้างชำระ74,637.50 บาท ปัญหาตามฎีกาโจทก์ปัญหาแรกมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์ฎีกาโต้แย้งว่า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวงพ.ศ. 2501 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์ในการจัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง โดยการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว โจทก์ได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดินการกำหนดราคากระแสไฟฟ้าที่จำหน่าย โจทก์ไม่สามารถกำหนดโดยลำพังการดำเนินกิจการของโจทก์มิได้มุ่งหากำไรอย่างพ่อค้าหรือผู้ประกอบการค้าทั้งทรัพย์สินของโจทก์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้จัดตั้งการไฟฟ้าขึ้นเรียกว่า “การไฟฟ้านครหลวง” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (2) จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และ (3) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การไฟฟ้านครหลวง”จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การไฟฟ้านครหลวงหรือโจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) หนี้ค่าไฟฟ้าตามฟ้อง(ใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.6) มีการจดหน่วยกระแสไฟฟ้าครั้งสุดท้ายลงวันที่ 23 มกราคม 2538 โจทก์สามารถทวงถามให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ชำระหนี้ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันดังกล่าว อายุความตั้งฐานสิทธิเรียกร้องเริ่มนับแต่วันที่ 24 มกราคม 2538 เป็นต้นมา โจทก์ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าเป็นค่าสินค้าเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2540 เกินกำหนด 2 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในปัญหาอื่น ๆ อีก”
พิพากษายืน