แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานรับของโจรรถกระบะของกลาง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 80,100 บาท แก่ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงโทรศัทพ์เคลื่อนที่ราคา 3,900 บาท สินค้าอุปโภคบริโภคราคา 40,000 บาท กล้องถ่ายรูปราคา 9,000 บาท ซึ่งมิใช่ทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองรับของโจรและรถกระบะของกลางนั้นผู้เสียหายก็ได้รับคืนไปแล้ว แม้ได้รับคืนในสภาพที่ถูกถอดชิ้นส่วนบางส่วนซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 27,200 บาท พนักงานอัยการโจทก์ก็ขอให้คืนหรือใช้ราคาไม่ได้ เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 43 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายจะต้องไปว่ากล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเอาเองเป็นคดีใหม่ จะให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่มิได้รับของโจรกับมูลค่าความเสียหายของรถกระบะของกลางที่ถูกถอดชิ้นส่วนบางส่วนนั้นย่อมไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335 (1) (7), 335 วรรคสาม, 357 และให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 80,100 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 (ที่ถูก มาตรา 357 วรรคแรก) ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 อายุ 15 ปีเศษ ส่วนจำเลยที่ 2 อายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 และ 76 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร มีกำหนดคนละ 2 ปี นับแต่วันพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 80,100 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2545 เวลา 20 นาฬิกา รถกระบะหมายเลขทะเบียน บต 4478 ฉะเชิงเทรา ที่นายองอาจ บุญรอด เช่าซื้อมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอไอจี ไฟแนนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และอยู่ในระหว่างผ่อนชำระราคาค่าเช่าซื้อ ซึ่งจอดอยู่ที่หลังตลาดร่วมใจ เมืองทองธานี พร้อมกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ สินค้าอุปโภคและบริโภค กับกล้องถ่ายรูปที่อยู่ในรถกระบะดังกล่าวหายไป วันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 11 นาฬิกา พันตำรวจโทวิสุทธิ์ นุชนิ่ม เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี จับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมด้วยรถกระบะดังกล่าวที่ถูกถอดชิ้นส่วนของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอไอจี ไฟแนนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในความครอบครองของนายองอาจ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป ต่อมาผู้เสียหายทราบข่าวทางโทรทัศน์ว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับแก๊งลักรถได้ที่บริเวณอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ผู้เสียหายพบว่ารถกระบะของตนที่หายไปอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองปรือ แต่ชิ้นส่วนอะไหล่ของรถกระบะดังกล่าวมีไม่ครบ บันไดขวาและซ้าย แบตเตอรี่ หม้อน้ำ พัดลมหม้อน้ำ ฝากระโปรงหน้า โครงเครื่องปรับอากาศถูกถอดออก ยางอะไหล่หายไป หมายเลขตัวถังรถถูกตัดออกและเชื่อมเข้าใหม่ ป้ายทะเบียน บต 4478 ฉะเชิงเทรา ถูกเปลี่ยนเป็นป้ายทะเบียน ลพ 8671 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของรถยนต์คันอื่น คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันรับของโจร รถกระบะดังกล่าวที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เป็นของกลางหรือไม่ และควรรอการลงโทษให้จำเลยทั้งสองหรือไม่….พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันรับของโจรรถกระบะของผู้เสียหายของกลางไว้จากคนร้าย โดยจำเลยทั้งสองรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ คดีมีปัญหาต่อไปว่าควรรอการลงโทษให้จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า รถยนต์เป็นทรัพย์ที่มีราคาสูง ขณะรถกระบะของกลางหายไป ผู้เสียหายและนายศรีมาย บุญรอด ภริยา ใช้เป็นพาหนะเดินทางไปสัมมนาเพื่อกิจการค้าขายสินค้าอุปโภคและบริโภค ทั้งใช้เก็บสินค้าราคา 40,000 บาท ไว้ในรถกระบะของกลางที่หายไปด้วย การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองนอกจากทำให้ผู้เสียหายสูญเสียทรัพย์สินที่มีราคาสูงแล้วยังทำให้ธุรกิจการค้าของผู้เสียหายเสียหายด้วย เป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยและเศรษฐกิจของสังคม พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่ควรรอการลงโทษให้ แต่การที่จำเลยที่ 2 จะมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์วันที่ 16 พฤศจิกายน 2551 การฝึกและอบรมมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา จำเลยที่ 2 จะมีอายุเกินยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ จึงกำหนดให้การฝึกและอบรมจำเลยที่ 2 ต้องไม่เกินอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์
อนึ่ง จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานรับของโจรรถกระบะของกลางที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 80,100 บาท แก่ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ราคา 3,900 บาท สินค้าอุปโภคและบริโภคราคา 40,000 บาท กล้องถ่ายรูปราคา 9,000 บาท ซึ่งมิใช่ทรัยพ์ที่จำเลยทั้งสองรับของโจร และรถกระบะของกลางนั้นผู้เสียหายก็ได้รับคืนไปแล้ว แม้ได้รับคืนในสภาพถูกถอดชิ้นส่วนบางส่วนซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 27,200 บาท พนักงานอัยการโจทก์ก็ขอให้คืนหรือใช้ราคาไม่ได้เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายจะต้องไปว่ากล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเอาเองเป็นคดีใหม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่มิได้รับของโจรกับมูลค่าความเสียหายของรถกระบะของกลางที่ถูกถอดชิ้นส่วนบางส่วนนั้นย่อมไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน แต่การฝึกและอบรมจำเลยที่ 2 ต้องไม่เกินอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ และจำเลยทั้งสองไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 80,100 บาท แก่ผู้เสียหาย