คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8883/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนำฎีกาในคดีเรื่องอื่นมายื่นในคดีนี้ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 8 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 8 ปี รวมจำคุกคนละ 16 ปี ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 6 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 6 ปี รวมจำคุกคนละ 12 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ในชั้นพิจารณาปรากฏข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ บุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งจากชุดการข่าวว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันได้ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงได้วางแผนให้สิบตำรวจตรีเดโชปลอมตัวเป็นสายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนที่บ้านของจำเลยทั้งสอง โดยใช้ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 10 ฉบับ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 100 เม็ด ให้สิบตำรวจตรีเดโช ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงิน หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยทั้งสองทันที และค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อและเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 เม็ด ที่ตัวจำเลยที่ 2 กับพบหลอดดูดเครื่องดื่ม 44 หลอด และถุงพลาสติก 1 ใบ ในห้องนอนของจำเลยทั้งสอง ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง แต่ตามฎีกาของจำเลยทั้งสองกลับอ้างว่ามีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนในร้านวันทาคาราโอเกะ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของร้าน จำเลยที่ 1 เป็นพ่อครัว ธนบัตรที่สายลับใช้ล่อซื้อมีทั้งฉบับละ 1,000 บาท 500 บาท และ 100 บาท เจ้าพนักงานตำรวจพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อในลิ้นชักโต๊ะที่จำเลยที่ 2 นั่งอยู่ เมื่อพิเคราะห์ฎีกาของจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า มูลคดีที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกาเป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ ทั้งจำนวนและชนิดของธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ รวมทั้งสถานที่เกิดเหตุก็ไม่ใช่สถานที่เดียวกันกับคดีนี้ ยิ่งไปกว่านั้นความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยทั้งสองที่กล่าวในฎีกาก็ต่างกับคดีนี้โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ คดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน ส่วนตามฎีกาของจำเลยทั้งสองนั้น จำเลยที่ 1 เป็นพ่อครัวในร้านวันทาคาราโอเกะ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของร้าน ประการสำคัญเนื้อหาในฎีกาของจำเลยทั้งสองไม่มีข้อโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีนี้ว่า ไม่ชอบ ไม่ถูกต้องอย่างใด ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง.

Share