แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงต้องกันมาแล้วว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่า การที่โจทก์ฎีกาว่าพฤติการณ์การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า จึงเป็นฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2512 เวลากลางคืน จำเลยใช้ขวานและมีดฟันและแทงนายผิน กลิ่นหอม โดยเจตนาฆ่า ถูกที่ศีรษะแขนขวา ใบหน้า และปลายนิ้วชี้ ได้รับอันตรายสาหัส แต่ไม่ถึงตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 และริบขวาน ด้ามมีดและฝักมีด ของกลาง
จำเลยให้การว่ากระทำโดยป้องกันตัว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 จำคุก 5 ปี ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่า
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าขอให้ลงโทษตามฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ให้จำคุก 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ดังนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน คดีนี้ เมื่อศาลล่างทั้งสองศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงต้องกันมาแล้วว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย การที่โจทก์ฎีกาว่าพฤติการณ์การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาฆ่า เช่นนี้ จึงเป็นฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ไม่ได้
จึงให้ยกฎีกาของโจทก์