คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483-1487/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คูขวางเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้จะตื้นเขินขึ้นตามธรรมชาติก็ตามเมื่อทางราชการยังมิได้ ตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรค 2(1) แล้วคูขวางย่อมยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโจทก์จะเข้า ครอบครองนานกี่ปีก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่จะโอนแก่กันมิได้และ จะยกอายุความขึ้นต่อสู้แผ่นดินก็มิได้เช่นกันเพราะตกอยู่ในบังคับ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305,1306ดังนั้นแม้โจทก์ จะมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่พิพาท(คูขวาง) ก็ตาม เอกสารดังกล่าวก็หามีผลผูกพันทางราชการไม่
แม้จะเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีระหว่างโจทก์กับ จ.วินิจฉัยว่าที่พิพาท (คูขวาง) เป็นของโจทก์และไม่ใช่ที่ สาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตามคำพิพากษาดังกล่าวย่อมไม่ผูกพัน จำเลยในคดีนี้เนื่องจากจำเลยในคดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว และคดีดังกล่าวพิพาทกันระหว่างเอกชนมิได้พิพาทกันระหว่างเอกชนกับเทศบาล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ในเขตเทศบาลโดยตรง ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคแรก บัญญัติว่า ‘บรรดา ที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นทรัพย์สิน ของแผ่นดินนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นให้อธิบดี มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษา และดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ ตามควรแก่กรณีอำนาจหน้าที่ดังว่านี้ รัฐมนตรีจะมอบหมายให้ ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้’ ดังนั้นเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้เทศบาลมีอำนาจดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตเทศบาลจำเลยที่ 1 และ จำเลย ที่ 2 ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีย่อมมีอำนาจ คัดค้านการขายที่พิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลท่าซัก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวามีอาณาเขตตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 คัดค้านว่าโจทก์ขายที่ทับที่ดินของจำเลย จำเลยที่ 4 และที่ 7 ทำการแทนจำเลยที่ 3 และที่ 6จำเลยที่ 8 และที่ 9 บุกรุกเข้ามาในที่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งเก้าทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ถอนคำคัดค้านให้จำเลยที่ 8 และที่ 9 รื้อถอนโรงเรือนออกจากที่พิพาท และให้จำเลยทุกคนใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกันในทางกสิกรรมมาไม่น้อยกว่า 100 ปี มีชื่อว่าคูขวาง จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินภายในเขตเทศบาล
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ให้การว่าที่พิพาทตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่สี่และที่นอกพิพาทที่โจทก์อ้างสิทธิเป็นคูสาธารณะชื่อคูขวาง พลเมืองใช้น้ำในคูขวางตลอดมา ต่อมาคูขวางตื้นเขิน จำเลยทั้งสี่ครอบครองโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมากว่า 10 ปีแล้ว
จำเลยที่ 5 ให้การว่าที่พิพาทตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5 ส่วนใหญ่เป็นของจำเลยที่ 5 ส่วนน้อยเป็นเขตคูขวางซึ่งเป็นทางสาธารณะ จำเลยที่ 5 ครอบครองที่พิพาทโดยสงบและเปิดเผยย่อมได้สิทธิตามกฎหมาย
จำเลยที่ 8 ที่ 9 ให้การว่าที่พิพาทตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นของจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองซื้อมาจากผู้มีชื่อและครอบครองทำประโยชน์มาประมาณ 20 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ทุกสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาทุกสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟังได้ว่าที่พิพาทในสำนวนคดีแรกอยู่ในเขตคูขวางอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทั้งศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้แล้วว่าคูขวางเป็นทางสาธารณะ โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวจึงต้องผูกพันตามคำพิพากษานั้น แม้ต่อมาที่พิพาทในคดีสำนวนแรกนี้คือคูขวางจะตื้นเขินขึ้นมาตามธรรมชาติก็ตาม เมื่อทางราชการยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรค 2(1) แล้วคูขวางย่อมยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์จะเข้าครอบครองนานกี่ปีก็ตามก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ และกรณีย่อมตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1305 และมาตรา 1306 ดังนั้นแม้โจทก์จะมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่พิพาทในคดีสำนวนแรกนี้ก็ตาม เอกสารดังกล่าวก็หามีผลผูกพันทางราชการไม่ ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 273/2511 ระหว่างโจทก์กับนายจำเริญ ลิมปิชาติ วินิจฉัยว่าที่พิพาทในคดีสำนวนแรกนี้เป็นของโจทก์และไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เห็นว่าจำเลยทุกคนในคดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวและคดีดังกล่าวพิพาทกันระหว่างเอกชน มิได้พิพาทกันระหว่างเอกชนกับเทศบาล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตเทศบาลโดยตรง คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยในคดีนี้
ข้อเท็จจริงฟังได้ต่อไปว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ต่างเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทในสำนวนนี้ 2 ถึงสำนวนที่ 5 มิใช่โจทก์
โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีอำนาจหน้าที่คัดค้านการขายที่พิพาทในคดีสำนวนแรก เพราะอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นตกอยู่แก่อำเภอตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พ.ศ. 2457 มาตรา 122 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495มาตรา 40 วรรค 3 และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วฟังได้ว่าที่พิพาทในคดีสำนวนแรกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งพลเมืองใช้ร่วมกันอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช สำหรับเรื่องการดูแลรักษาที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคแรกบัญญัติว่า “บรรดาที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้อธิบดีมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษา และดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณี อำนาจหน้าที่ดังว่านี้ รัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้” และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1 บัญญัติว่า”ทบวงการเมือง” หมายความว่า หน่วยราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่น” “รัฐมนตรี”หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินและตามประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 มาตรา 15 บัญญัติว่า “ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และตามประมวลกฎหมายที่ดิน และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานที่ดินและพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้และประมวลกฎหมายที่ดิน ฯลฯ” ซึ่งข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้โต้แย้งฟังได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้เทศบาลมีอำนาจดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตเทศบาลตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 890/2498 ลงวันที่16 สิงหาคม 2498 เห็นว่า การมอบหมายดังกล่าวก็โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคแรก ดังนั้นเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีย่อมมีอำนาจคัดค้านการขายที่พิพาทในคดีสำนวนแรกของโจทก์ซึ่งทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาข้อต่อไปของโจทก์ที่ว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 9 ไม่ขาดอายุความ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และบริวารบุกรุกที่พิพาทในคดีสำนวนแรกกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทในคดีสำนวนแรกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ร่วมกันและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทในคดีสำนวนที่ 2 ถึงสำนวนที่ 5 ตามแผนที่วิวาทและแผนที่กลางในคดีสำนวนที่ 5ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ดังกล่าวอีกต่อไป
พิพากษายืน

Share