แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาให้โจทก์ไว้ มีความว่า จำเลยได้เสียเป็นสามีภริยากับโจทก์มาประมาณ 10ปี แต่มิได้จดทะเบียนสมรสบัดนี้จำเลยประสงค์จะแต่งงานใหม่กับหญิงอื่น แต่โดยคุณงามความดีที่มีไมตรีต่อกันมานาน จำเลยจึงตกลงจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์เดือนละ 300 บาท ตลอดเวลาที่โจทก์ยังไม่มีสามีใหม่ ถ้าไม่ปฏิบัติตามสัญญา ขอให้โจทก์ฟ้องร้องต่อศาลหรือทางราชการกรมเจ้าสังกัดของจำเลยได้การแสดงเจตนาของจำเลย ดังนี้ มีลักษณะในทำนองที่จำเลยประสงค์จะมิให้เกิดข้อยุ่งยากขึ้นในระหว่างจำเลยกับโจทก์ในเมื่อจำเลยแต่งงานใหม่กับหญิงอื่น หาใช่การให้คำมั่นว่า จะให้ทรัพย์สินแก่โจทก์โดยเสน่หาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 526 ประกอบด้วยมาตรา 521 ไม่ จึงมิใช่กรณีที่จะต้องมีการจดทะเบียนสัญญาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้สัญญานี้มีผลบังคับ จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์ตามสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้เสียเป็นสามีภริยาและอยู่กินกันมา10 ปีเศษโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและไม่มีบุตร ระหว่างที่อยู่กินกันนั้นได้ช่วยกันทำมาหากินเกิดมีทรัพย์สินขึ้นหลายอย่าง ครั้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2510 จำเลยอ้อนวอนโจทก์ว่า จำเลยประสงค์จะแต่งงานกับหญิงอื่นซึ่งมีอาชีพรับราชการเช่นเดียวกับจำเลย ขอให้โจทก์เห็นใจและขอแยกทางกับจำเลย โจทก์ตกลงโดยเห็นแก่อนาคตของจำเลย ในการที่โจทก์ยินดีสมัครใจแยกทางกับจำเลยนั้น จำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์เดือนละ 300 บาทตลอดไปจนกว่าโจทก์จะมีสามีใหม่แล้วจำเลยได้จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์เพียง 2 เดือนเท่านั้น ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่ค้างพร้อมด้วยดอกเบี้ย รวม 10,067 บาท 75 สตางค์ให้โจทก์ และให้จำเลยใช้เงินค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์เดือนละ 300 บาท ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปทุก ๆ เดือนจนกว่าโจทก์จะมีสามีใหม่
จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญาดังฟ้องให้โจทก์ไว้จริง คงต่อสู้เพียงว่าสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นว่าจะให้ ไม่สมบูรณ์ ใช้บังคับไม่ได้
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องทำการสืบพยานต่อไป ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยว่าเอกสารฉบับพิพาทหมาย จ.1 เป็นแต่เพียงคำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินแก่โจทก์อันเนื่องมาจากหนี้ในศีลธรรมและน้ำใจไมตรี นับว่าเป็นการจะให้โดยเสน่หา เมื่อเอกสารที่โจทก์นำมาฟ้องมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 526 โจทก์จึงขอให้บังคับไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีควรจะได้ฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าเหตุใดจำเลยจึงได้ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ และจำเลยมีข้อโต้แย้งประการใดหรือไม่ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
“ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ตามฟ้อง คำให้การและคำแถลงรับของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อเกิดคดีนี้โจทก์มีอายุ 42 ปี และจำเลยมีอายุ 38 ปี จำเลยได้ทำสัญญาลงวันที่25 เมษายน 2510 เอกสารหมาย จ.1 ให้ไว้แก่โจทก์จริง สัญญาฉบับนี้มีข้อความว่า “ข้าพเจ้านายภิรมย์ เกื้อหนุน รับราชการตำแหน่งเสมียนพนักงานประจำที่ทำการที่ดินอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ขอทำหนังสือสัญญาให้ไว้แก่นางกิมเหี้ยง ทั่งทอง ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าข้าพเจ้าได้เสียเป็นสามีภรรยากับนางกิมเหี้ยง ทั่งทอง มาช้านานประมาณ 10 ปี แต่มิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย บัดนี้ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะแต่งงานใหม่กับผู้หญิงอื่นในเร็ว ๆ นี้ แต่โดยคุณงามความดีที่มีไมตรีต่อกันมานาน ข้าพเจ้าจึงตกลงจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพให้แก่นางกิมเหี้ยง ทั่งทองเป็นรายเดือน ๆ ละ 300 บาท (สามร้อยบาทถ้วน) โดยข้าพเจ้าจะชำระให้ทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 2 ของเดือนใหม่ ตลอดเวลาที่นางกิมเหี้ยง ทั่งทอง ยังไม่มีสามีใหม่ ถ้าข้าพเจ้าไม่ปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ ขอให้นางกิมเหี้ยง ทั่งทอง ฟ้องร้องต่อศาลหรือทางราชการกรมที่ดินได้” จำเลยได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้สัญญาโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับสัญญาและมีผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วยสองคน เมื่อได้พิเคราะห์ข้อความตามสัญญาฉบับนี้โดยตลอดประกอบกับคำแถลงของจำเลยที่ยอมรับว่าได้ทำสัญญานี้ให้โจทก์ไว้จริงแล้วจะเห็นได้ว่าการแสดงเจตนาของจำเลยหาใช่การให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินแก่โจทก์โดยเสน่หาตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 526 ประกอบด้วยมาตรา 521 ไม่เพราะข้อความมีลักษณะไปในทำนองที่จำเลยประสงค์จะมิให้เกิดมีข้อยุ่งยากขึ้นในระหว่างจำเลยกับโจทก์ในเมื่อจำเลยแต่งงานใหม่กับหญิงอื่นจำเลยจึงได้ตกลงจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน ถึงกับจำเลยยินยอมให้โจทก์ฟ้องร้องต่อศาลหรือทางราชการกรมที่ดินได้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ ฉะนั้น จึงมิใช่กรณีที่จะต้องมีการจดทะเบียนสัญญานี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้สัญญานี้มีผลบังคับได้ คดีนี้ จำเลยแถลงยอมรับว่าจำเลยได้ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ไว้จริงเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า สัญญานี้มีผลบังคับได้โดยไม่จำต้องมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อความในสัญญาก็มีอยู่ชัดว่า ที่จำเลยทำสัญญานี้ให้โจทก์ไว้ก็เพราะมีความประสงค์จะแต่งงานใหม่กับหญิงอื่นกับทั้งเมื่อได้พิเคราะห์ฟ้อง คำให้การและคำแถลงของคู่ความแล้ว ก็เห็นได้ว่าจำเลยมิได้มีข้อต่อสู้ประการใดที่จะต้องสืบพยานกันอีกในข้อที่ว่าจำเลยจะไม่ต้องรับผิดตามสัญญานี้ อาศัยอำนาจตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 104 ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรพิจารณาคดีนี้ไปโดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานต่อไปดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
ข้อเท็จจริงตามสำนวนฟังได้ว่าจำเลยได้ผิดสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ต่อโจทก์จริงตามฟ้อง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ตามสัญญา
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพที่ค้างชำระเป็นเงิน 9,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยที่ค้างชำระอีก 1,067 บาท 75 สตางค์ รวมเป็นเงิน 10,067 บาท75 สตางค์ กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในต้นเงิน 9,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์เดือนละ 300 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องทุกเดือนตลอดไปจนกว่าโจทก์จะมีสามีใหม่”