แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้สัญญาจ้างเหมาระหว่างจำเลยกับผู้รับจ้างซึ่งเป็นผู้โอนจะระบุว่า ผู้รับจ้างจะโอนสิทธิหน้าที่ตามสัญญาให้แก่ผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากจำเลยมิได้ ซึ่งปรับได้ว่าผู้รับจ้างและจำเลยได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคสอง กับเมื่อผู้รับจ้างซึ่งเป็นผู้โอนและโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อตกลงการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าก่อสร้าง จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า หากโจทก์จะเป็นผู้รับค่าจ้างในงวดต่อ ๆ ไปแทนผู้รับจ้างก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในหนังสือสัญญาจ้างเหมาและจะต้องออกใบเสร็จรับเงินค่าจ้างโดยผู้รับจ้าง อันยังถือไม่ได้ถนัดว่าจำเลยได้ยินยอมด้วยในการโอนตามสัญญาจ้างเหมาข้อ 15 ก็ตาม แต่หลังจากนั้นผู้รับจ้างได้มีหนังสือถึงจำเลยขอให้จำเลยทำหนังสือถึงโจทก์ โดยขอให้มีข้อความระบุว่า “จำเลยไม่ขัดข้องที่ผู้รับจ้างได้โอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์” สำหรับขั้นตอนการรับเงินคงเหมือนเดิม ซึ่งต่อมาจำเลยก็ได้มีหนังสือแจ้งไปถึงโจทก์ว่า จำเลยไม่ขัดข้องที่ผู้รับจ้างได้โอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยได้ยินยอมด้วยในการโอนตามป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง และตามสัญญาจ้างเหมาแล้ว ส่วนขั้นตอนการรับเงินที่จำเลยกำหนดไว้นั้น เป็นเพียงวิธีการคิดคำนวณค่าจ้างในแต่ละงวดว่าจะต้องจ่ายเท่าใด ตามข้อตกลงในสัญญาจ้างเหมาเท่านั้น ส่วนผู้มีสิทธิรับเงินค่าจ้างจะต้องเป็นโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง การโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินระหว่างผู้รับจ้างกับโจทก์ จึงมีผลผูกพันจำเลยที่จะต้องชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ผู้รับโอน ไม่ใช่ชำระให้แก่ผู้รับจ้าง
ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงิน หนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้อง หนังสือของจำเลยที่มีถึงโจทก์ หนังสือของ ป. ที่มีถึงจำเลยและหนังสือของจำเลยที่มีถึงโจทก์ เอกสารดังกล่าวทั้งหมดไม่ได้ระบุถึงงานที่เพิ่ม ดังนั้น จะถือว่าได้มีการโอนสิทธิเรียกร้องในส่วนนี้แล้วไม่ได้