คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9326/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1 ให้คำนิยามคำว่า”ใบจอง” ว่าหมายถึง หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว จากคำนิยามดังกล่าวถือได้ว่าทางราชการยังไม่ได้ให้สิทธิครอบครองอย่างเด็ดขาดแก่จำเลย จำเลยมีเพียงแต่สิทธิเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด รวมทั้งเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด แต่ในระหว่างที่จำเลยได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินพิพาท จำเลยจะต้องอยู่ภายในบังคับของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497มาตรา 8 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ที่ดินที่ได้รับใบอนุญาตให้จับจอง ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดโดยมรดก เมื่อการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายค.กับจำเลยยังอยู่ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าวนิติกรรมการซื้อขายและส่งมอบที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแม้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทจะครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อจากนาย ค. มานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐอันบุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง>ตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองภายหลังจากประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับในปี 2497 แล้ว จึงมิใช่ผู้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับทั้งการยึดถือครอบครองของโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆแก่โจทก์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2516 นายคูณได้ซื้อที่ดินตามใบจอง(น.ส.2) เลขที่ 119 จากจำเลยจำเลยได้มอบการครอบครองให้นายคูณเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวนับตั้งแต่ปี 2516ตลอดมา แต่ไม่ได้โอนสิทธิครอบครองมาจากจำเลยต่อมานายคูณถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งสองในฐานะทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนายคูณได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ต่อมาจึงได้ยื่นคำขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(ที่ถูกเป็นใบจอง) ที่ดินดังกล่าวต่อสำนักงานที่ดินเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ทั้งสอง ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบจองเลขที่ 119 ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป และให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเมืองอุดรธานีจังหวัดอุดรธานี ทำนิติกรรมแก้ทะเบียนผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองในใบจองดังกล่าวเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทจำเลยได้รับการจัดที่ดินให้จากทางราชการโดยได้ออกใบจอง (น.ส.2) เป็นชื่อของจำเลยตั้งแต่ปี 2516 จำเลยเข้าทำประโยชน์ตลอดมาจนกระทั่งเมื่อปี 2518 จำเลยกู้ยืมเงินจากนายคูณและได้มอบที่ดินพิพาทให้นายคูณเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อนายคูณถึงแก่กรรมจำเลยให้โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่างดอกเบี้ยต่อมาถึงปัจจุบัน โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิคัดค้าน การที่จำเลยขอออกใบแทนใยจองและต่อมาสำนักงานที่ดินก็ได้ออกใบแทนใบจองให้แก่จำเลยแล้ว ที่ดินพิพาทจำเลยได้รับการจัดสรรมาจากคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ อาศัยประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 เพื่อออกให้แก่จำเลยใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ โดยพิจารณาถึงคุณสมบัติและความสามารถของจำเลยโดยเฉพาะ ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสองได้บัญญ้ติห้ามโอนที่ดินดังกล่าว และตามประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ.2497 มาตรา 31 ได้บัญญัติห้ามโอนไว้เช่นเดียวกันโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบจอง เลขที่ 119 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงมาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อปี 2516 ทางราชการได้ออกใบจอง (น.ส.2) ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ต่อมาในปี 2535ทางราชการได้ออกใบแทนใบจองที่ดินพิพาทให้จำเลยเนื่องจากจำเลยอ้างว่าใบจองฉบับเดิมสูญหาย ในปี 2516นายคูณสามีโจทก์ที่ 1 ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทและถึงแก่กรรมเมื่อปี 2519 หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรได้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาจนปัจจุบัน ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยได้ขออนุญาตจับจองที่ดินพิพาทและทางราชการได้ออกใบจองที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้วจ.13 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1 ได้ให้คำนิยามของคำ “ใบจอง” ว่า “หมายความว่า หนังสือแสดงการยอมให้เจ้าครอบครองที่ดินชั่วคราว” จากคำนิยามดังกล่าวถือได้ว่าทางราชการยังไม่ได้ให้สิทธิครอบครองอย่างเด็ดขาดแก่จำเลย จำเลยเพียงแต่มีสิทธิเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนดรวมทั้งเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด แต่ในระหว่างที่จำเลยได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินพิพาท จำเลยจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 มาตรา 8 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า”ที่ดินที่ได้รับใบอนุญาตให้จับจอง ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยมรดก” ดังนั้น แม้หากข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าเมื่อปี 2516 นายคูณได้ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งมีใบจองจากจำเลย โดยจำเลยส่งมอบการครอบครองให้แล้ว ต่อมาในปี 2519 นายคูณถึงแก่กรรมโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนายคูณจึงได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตลอดมาก็ตามแต่การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายคูณกับจำเลยตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างยังอยู่ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าว ดังนั้นนิติกรรมการซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทระหว่างนายคูณกับจำเลยเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อจากนายคูณมานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐ อันบุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิหรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองภายหลังจากประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับในปี 2497 แล้ว จึงมิใช่ผู้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับทั้งการยึดถือครอบครองของโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นการยึดถือที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าแม้ขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้โจทก์ทั้งสองยังมิได้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิหวงแหนคุ้มครองป้องกันสิทธิซึ่งถูกละเมิด เมื่อจำเลยไปขอออกใบแทนใบจองที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง เห็นว่าตราบใดที่โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท การกระทำของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆแก่โจทก์โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและห้ามจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
พิพากษายืน

Share