คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9156/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับผู้ร้องโดยมี ก.ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3และ ก.ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และ ก.ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวด้วย กรณีนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3และ ก.เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ที่จำนองได้ร่วมกันเอาทรัพย์สินจำนองไว้แก่ผู้ร้องเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 2และที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นลูกหนี้ชั้นต้น ส่วนนางกัลยาเป็นเพียงลูกหนี้ชั้นที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันและจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์เท่านั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 725 มิได้ให้สิทธิแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ ก.ซึ่งเป็นผู้จำนองได้ และแม้ว่า ก.จะทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 อย่างลูกหนี้ร่วมก็มีความหมายเพียงว่า ก.ยอมเข้ารับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้หมายความว่า ก.จะมีฐานะกลายเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3ไปด้วยไม่ มาตรา 693 หาได้ให้สิทธิแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่จะไล่เบี้ยเอาจากก.ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ ก.และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกันอันจะทำให้มีการหักกลบลบหนี้กันได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 341 ดังนั้นเมื่อผู้คัดค้านได้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ชำระหนี้จำนวน 9,429,863 บาท ให้แก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันก่อนเจ้าหนี้อื่นแล้ว ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวน3,143,287.66 บาท ไปขอหักกลบลบหนี้กับเงินส่วนของ ก.ที่จะได้รับจากการขายทอดตลาดดังกล่าว

Share