คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3088/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ปัญหาเรื่องค่าสมาชิกสนามกอล์ฟแยกต่างหากจากสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การและประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเป็นสำคัญ เมื่อตามคำฟ้อง คำให้การและข้อที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยต้องคืนค่าที่ศาลพิพากษาและค่าสนามกอล์ฟให้โจทก์ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเกี่ยวกับสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟและไม่ต้องคืนเงินค่าสมาชิกสนามกอล์ฟให้แก่โจทก์ได้
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยแล้ว โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ซึ่งกรณีนี้หมายรวมถึงการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟที่ต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่ได้ชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์เป็นดอกเบี้ยตามมาตรา 391 วรรคสอง อันเนื่องจากโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา จึงไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (1)
เมื่อสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเกิดแต่โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา จึงเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่โจทก์เรียกคืนอันเป็นส่วนที่เป็นหนี้ประธานสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจึงมีอายุความและเริ่มนับอายุความเช่นเดียวกันกับหนี้ประธาน สิทธิเรียกร้องเงินค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่โจทก์เรียกคืนจากจำเลยยังไม่ขาดอายุความ 10 ปี ดังนั้น สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งเป็นส่วนที่เป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟอันเป็นส่วนที่เป็นหนี้ประธานย่อมไม่ขาดอายุความไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,415,672.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,900,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 3,415,672.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,900,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 4 ธันวาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ปัญหาเรื่องค่าสมาชิกสนามกอล์ฟแยกต่างหากจากสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ตามคำฟ้อง คำให้การและทางพิจารณาแสดงให้เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวได้ว่ากันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยดำเนินการเกี่ยวกับสนามกอล์ฟและคลับเฮาส์เสร็จตั้งแต่ปี 2534 โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับสมาชิกสนามกอล์ฟได้นั้น เห็นว่า ปัญหาตามฎีกาข้อนี้ต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การและประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเป็นสำคัญ ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 2 ได้บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า กลางปี 2533 จำเลยทำสัญญาจะแบ่งขายที่ดินบางส่วนให้แก่โจทก์ในราคา 1,700,000 บาท และจำเลยชักชวนให้โจทก์สมัครเป็นสมาชิกกอล์ฟอันเป็นการบริการในโครงการของจำเลยเพื่อรับสิทธิพิเศษในการเล่นกอล์ฟเป็นเงิน 200,000 บาท รวมค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟคลับเป็นงิน 1,900,000 บาท และบรรยายฟ้องต่อไปว่า เมื่อจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องคืนเงิน 1,900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ ส่วนจำเลยให้การในข้อ 1 วรรคสองว่า ส่วนของค่าสมาชิกสนามกอล์ฟจำนวน 200,000 บาท จำเลยได้ก่อสร้างสนามกอล์ฟเสร็จตั้งแต่ปี 2534 และได้เปิดดำเนินกิจการมาโดยตลอด โจทก์มีสิทธิเข้าไปใช้บริการในสนามกอล์ฟได้ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาส่วนนี้ และวรรสามให้การเกี่ยวกับที่ดินแปลงพิพาทว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา เช่นนี้ตามคำให้การจำเลยได้แยกสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟและสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทต่างหากจากกันทั้งศาลชั้นต้นได้พิจารณาสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทก่อนแล้วฟังว่า จำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทให้โจทก์ และพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟแล้วฟังว่า ผู้ซื้อที่ดินจะต้องสมัครเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟด้วย เมื่อคู่สัญญาซื้อขายที่ดินกลับคืนสู่ฐานะเดิม ค่าสมาชิกสนามกอล์ฟจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมเช่นกัน ดังนั้นปัญหาเรื่องค่าสมาชิกสนามกอล์ฟแยกต่างหากจากค่าที่ดินพิพาทหรือไม่ จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเกี่ยวกับสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟและไม่ต้องคืนเงินค่าสมาชิกสนามกอล์ฟให้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟแยกต่างหากจากสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทและแม้จะฟังว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเลิกกันต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่ไม่มีผลถึงสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟ จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินค่าสมาชิกสนามกอล์ฟจำนวน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้น ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยแต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ก่อน ซึ่งศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหานี้ไปพร้อมกับปัญหาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ และต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ และต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยมีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์จึงทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.4 ส่งให้โจทก์ แม้หนังสือมิได้กำหนดวันรับโอน แต่โจทก์ต้องส่งเอกสารคืนจำเลยภายในเวลาอันสมควรเพื่อดำเนินการให้โจทก์รับโอนที่ดินจากจำเลย ทั้งการไถ่ถอนจำนองและแบ่งแยกโฉนดที่ดินต้องใช้หนังสือมอบอำนาจที่แนบไปกับหนังสือตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งหากโจทก์ส่งเอกสารคืน จำเลยก็แบ่งแยกที่ดิน ไถ่ถอนจำนองและโอนให้โจทก์ในคราวเดียวดังที่จำเลยโอนให้ลูกค้ารายอื่น ตามโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาขายที่ดิน การที่จำเลยขอชำระหนี้ให้โจทก์แล้วบรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ของจำเลยเป็นอันปลดเปลื้องไปและไม่ถือว่าจำเลยผิดนัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อจำเลยและบริษัทกอล์ฟ ฟอร์ซ จำกัด มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนที่ดินแต่โจทก์เพิกเฉย ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืน ส่วนสนามกอล์ฟและคลับเฮาส์สร้างเสร็จเมื่อปี 2534 โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสามารถเข้าไปใช้บริการได้ จำเลยไม่ได้ผิดนัด เมื่อค่าสมาชิกสนามกอล์ฟแยกต่างหากจากค่าที่ดิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเกี่ยวกับสมาชิกสนามกอล์ฟได้ สำหรับดอกเบี้ย เมื่อจำเลยยังไม่ได้คืนให้แก่โจทก์ ดอกเบี้ยจึงมีลักษณะเป็นดอกเบี้ยค้างชำระมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยในแต่ละงวดเกินกว่า 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เห็นว่า แม้ขณะที่จำเลยทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.4 แจ้งให้โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ หนังสือยินยอมคู่สมรสและจัดเตรียมเอกสารตามที่จำเลยแจ้งแล้วส่งกลับมาให้จำเลยเพื่อดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์นั้น ที่ดินแปลงพิพาทยังติดจำนองและยังไม่ได้แบ่งแยกก็ตาม แต่จำเลยมีนางพันทิพา ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลย นายวิชาญ ผู้ซื้อที่ดินในโครงการเดียวกับโจทก์จากจำเลยและนายพิชิต ข้าราชการสังกัดกรมที่ดินซึ่งในช่วงระหว่างปี 2536 ถึง 2538 ดำรงตำแหน่งช่างรังวัดประจำสำนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี เป็นพยานเบิกความประกอบโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาขายที่ดินได้ความว่า จำเลยจะจัดส่งหนังสือและเอกสารทำนองเดียวกับเอกสารหมาย จ.4 ให้ผู้ซื้อที่ดินทุกราย หลังจากที่ผู้ซื้อลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยส่งมาและส่งเอกสารต่างๆ ตามที่แจ้งกลับไปยังจำเลยแล้ว จำเลยจะดำเนินการโอนที่ดินให้แก่ผู้ซื้อโดยปลอดจำนอง โดยจะให้ลูกค้าแต่ละรายที่ซื้อที่ดินโฉนดเดียวกันถือกรรมสิทธิ์รวมไปก่อน หลังจากนั้นจำเลยจะแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมให้แก่ผู้ซื้อต่อไป ซึ่งการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน นับแต่วันที่ยื่นคำขอรังวัดซึ่งที่ดินของนายวิชาญที่จำเลยดำเนินการจนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ให้แล้วคือที่ดินตามโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินแผ่นสุดท้าย ซึ่งจากการตรวจดูเอกสารดังกล่าวทุกฉบับ อันเป็นเอกสารที่สำนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรีส่งมาแล้ว จะเห็นตามสารบัญจดทะเบียนและหนังสือสัญญาขายที่ดินว่าที่ดินเหล่านั้นจำเลยได้ดำเนินการจดทะเบียนปลอดจำนองและจดทะเบียนขายให้ผู้ซื้อถือกรรมสิทธิ์รวมก่อนในวันเดียวกันจากนั้นจึงจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้ในภายหลัง ส่วนที่ดินแปลงอื่นนอกจากที่กล่าวมานี้ก็มีการจดทะเบียนปลอดจำนองและจดทะเบียนขายให้ผู้ซื้อในวันเดียวกัน และแม้ในวันเดียวกันนั้นผู้ซื้อได้นำไปจดทะเบียนจำนองใหม่กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด แต่ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ซื้อแต่ละรายเอง เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าที่ดินที่จำเลยขายและแจ้งให้ผู้ซื้อรับโอน แม้ในขณะนั้นจะติดจำนองและยังไม่มีการแบ่งแยกโฉนด แต่จำเลยก็สามารถจดทะเบียนโดยปลอดจำนองโอนให้ผู้ซื้อและแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อแต่ละรายได้ เมื่อหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยส่งให้โจทก์ลงลายมือชื่อและเอกสารที่โจทก์ต้องจัดส่งให้จำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นเอกสารทำนองเดียวกับที่จำเลยแจ้งให้นายวิชาญและผู้ซื้อรายอื่นส่งคืนให้จำเลย ดังนี้ย่อมเชื่อได้ว่าหากโจทก์ส่งเอกสารตามที่จำเลยแจ้งในหนังสือเอกสารหมาย จ.4 แล้ว จำเลยจะสามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้เช่นกัน ส่วนหนังสือตามเอกสารหมาย จ.4 ที่ไม่ได้กำหนดวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และมิได้กำหนดวันให้โจทก์ส่งเอกสารแก่จำเลยเมื่อใดนั้นแต่เห็นได้ว่าการที่จำเลยส่งแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ แล้วส่งเอกสารนั้น และเอกสารอื่นตามที่แจ้งไปยังจำเลยก็เพื่อที่จำเลยจะไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์เองเช่นนี้จึงไม่จำต้องกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกับโจทก์อีก แต่อย่างไรก็ตาม โจทก์ต้องส่งเอกสารให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายและมีหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิที่ดินให้แก่โจทก์ภายในเวลาอันสมควรด้วยเพราะมิฉะนั้นจะเป็นว่าการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อไรขึ้นอยู่กับความพอใจของโจทก์เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่เคยส่งเอกสารเกี่ยวกับการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่แจ้งในเอกสารหมาย จ.4 ให้แก่จำเลย จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว แต่จำเลยไม่เคยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ฉะนั้นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทยังคงมีผลผูกพันอยู่ จำเลยจึงยังมีหน้าที่ต้องแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนองให้แก่โจทก์ต่อไป สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า การทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.4 ส่งให้โจทก์ถือได้ว่าจำเลยได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ แต่โจทก์เพิกเฉย บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้เป็นอันปลดเปลื้องไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 330 จำเลยไม่ต้องคืนเงินแก่โจทก์นั้น เป็นข้ออ้างที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อวินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่า จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2544 โจทก์มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.5 แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 19 ตุลาคม 2544 แต่จำเลยไม่ไปตามนัด ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่จำเลยได้ ซึ่งวันที่ 29 ตุลาคม 2544 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยและให้จำเลยคืนเงินที่รับไปพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย จึงไม่อาจรับฟังได้
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า หนังสือที่จำเลยและบริษัทกอล์ฟ ฟอร์ซ จำกัด ตัวแทนจำเลยผู้รับโอนที่ดินพิพาทแจ้งให้โจทก์ดำเนินการเพื่อรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่โจทก์เพิกเฉย ถือว่าโจทก์ผิดนัดนั้น เห็นว่า จำเลยทำหนังสือดังกล่าวหลังจกาที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว จึงไม่มีสัญญาที่จะให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยอีก ทั้งเป็นการบอกกล่าวภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การต่อสู้คดีแล้ว จึงเป็นการบอกกล่าวเพื่อสร้างหลักฐานว่าโจทก์ผิดนัด ความรับผิดย่อมตกแก่โจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเท่านั้น ฉะนั้นข้ออ้างตามฎีกาข้อนี้จึงรับฟังไม่ได้ ส่วนสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟนั้น เห็นว่า ทั้งโจทก์และจำเลยไม่มีฝ่ายใดอ้างส่งสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทหรือคำโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อที่ดินและให้สมัครเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟเพื่อให้ตรวจดูว่าจำเลยขายที่ดินพิพาทพร้อมสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟหรือไม่ แต่จากการตรวจดูใบรับเงินชั่งคราวที่จำเลยออกให้โจทก์ในวันที่จำเลยตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่โจกท์ จำเลยออกใบรับเงินชั่วคราวว่าได้รับเงินเพื่อจองซื้อสมาชิกของสนามกอล์ฟเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมที่ดินและรวมค่าพัฒนาที่ดินเป็นเงิน 1,700,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,900,000 บาท โดยการผ่อนชำระราคาด้วยเช็ครวม 20 งวด ซึ่งชำระเป็นราคาเท่ากันทุกเดือน ส่วนใบเสร็จรับเงินแผ่นที่ 1 และ 2 แม้ระบุว่าชำระค่าสมาชิกอันหมายถึงค่าสมาชิกสนามกอล์ฟ แต่ก็อ้างถึงที่ดินแปลงเลขที่ 19 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงพิพาท ทั้งใบเสร็จรับเงินแผ่นที่ 3 จำเลยระบุเป็นการชำระเงินค่าที่ดิน ซึ่งหากการคิดค่าสมาชิกสนามกอล์ฟแยกต่างหากจากค่าซื้อที่ดินก็ควรที่จะแยกค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่เหลืออยู่ 10,000 บาท ออกจากค่าซื้อที่ดินในงวดนี้ด้วย พฤติการณ์ที่จำเลยให้โจทก์ชำระราคาค่าที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟโดยออกใบรับเงินเหล่านี้ จึงเสมือนกับจำเลยต้องการขายที่ดินพร้อมกับสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟไปพร้อมกัน เมื่อที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์และผู้ซื้อรายอื่นเป็นที่ดินผืนเดียวกันกับที่จำเลยสร้างสนามกอล์ฟและคลับเฮาส์ประกอบกับนายวิชาญพยานจำเลยก็เบิกความว่า พยานซื้อที่ดิน 1 แปลง เป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมสมาชิกสนามกอล์ฟจำนวน 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,200,000 บาท เช่นนี้ เชื่อว่าผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยต้องสมัครเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟด้วย สิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟหาได้แยกต่างหากจากสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยแล้ว โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ซึ่งในกรณีนี้หมายรวมถึงการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟที่ต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยโจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่ได้ชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์นี้เป็นดอกเบี้ยตามมาตรา 391 วรรคสอง อันเนื่องจากโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา จึงไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (1) ดังที่จำเลยฎีกา
ส่วนฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยในแต่ละงวดเกินกว่า 10 ปี ตามมาตรา 193/30 นั้น เห็นว่า ดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยของค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์ตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ซึ่งบางจำนวนนับแต่วันที่รับไว้จนถึงวันฟ้องแม้เกินกว่า 10 ปีแล้ว แต่วันที่จำเลยรับเงินไว้ดังกล่าวหาใช่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ เมื่อสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยนี้เกิดแต่โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่โจทก์เรียกคืนอันเป็นส่วนที่เป็นหนี้ประธาน เช่นนี้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจึงมีอายุความและเริ่มนับอายุความเช่นเดียวกันกับหนี้ประธานซึ่งศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาแล้วว่า สิทธิเรียกร้องเงินค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่โจทก์เรียกคืนจากจำเลยยังไม่ขาดอายุความ 10 ปี โดยที่จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ดังนั้น สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งเป็นส่วนที่เป็นหนึ้อุปกรณ์ของค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟอันเป็นส่วนที่เป็นหนี้ประธานย่อมไม่ขาดอายุความไปด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยรับผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์

Share