คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8878/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ว่าในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการทุกคดีจะต้องระบุถึงช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 90/6(3) แต่การที่จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นกรณีที่ศาลได้พิจารณาในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิธีการ ตลอดจนแนวทางการฟื้นฟูกิจการอย่างเดียวกันด้วยในคดีล้มละลายคดีก่อนซึ่งลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ได้อ้างช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการว่าลูกหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเกือบทุกรายมีการประชุมเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ ภายใต้กรอบของคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำวินิจฉัยว่านอกจากสัญญาเช่าที่ลูกหนี้ทำกับผู้เช่าอาคารซึ่งมีกำหนดเวลา 1 ปี ถึง 3 ปี ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถปรับอัตราค่าเช่าให้สูงขึ้นหรือจัดหาผู้เช่าให้เช่าให้เต็มพื้นที่ได้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่มีแนวทางหรือมาตรการอื่นใดที่จะดำเนินการให้มีกำไรหรือรายได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันจึงเป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้ส่วนที่ลูกหนี้คาดว่าจะสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยให้เจ้าหนี้ลดยอดหนี้และเพิ่มวงเงินหมุนเวียนก็เป็นเรื่องที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอนจึงไม่มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงให้ยกคำร้องขอ ส่วนคดีนี้ผู้ร้องขอซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการว่าได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินและสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีทรัพย์สินส่วนใหญ่ของลูกหนี้จดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันและมีหนี้รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.40 ของจำนวนหนี้ของลูกหนี้ทั้งหมด ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งสามรายมีมติร่วมกันในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และมีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลดจำนวนหนี้ลงให้เหมาะสมไม่เกินกำลังความสามารถของลูกหนี้จึงเห็นได้ว่าสาระสำคัญในเหตุที่อ้างอันเป็นช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการในคดีนี้แตกต่างจากคดีก่อนอย่างเห็นได้ชัด ทั้งมีเหตุซึ่งเกิดใหม่อันจะเป็นผลดีในการที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อีกหลายประการ รวมทั้งยังมีหนังสือของสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่าขอให้การสนับสนุนในการยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการ และยินยอมที่จะลดยอดหนี้ให้ลูกหนี้ถึงร้อยละ 80 ของจำนวนหนี้ที่ค้างอยู่ เช่นนี้ ข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างในช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของคดีนี้จึงแตกต่างจากคดีก่อน การรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งผู้ร้องขอได้ยื่นไว้พิจารณาจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14

ย่อยาว

ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งให้บริษัทวิชชั่นแพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน หากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่ยังมิได้ตั้งผู้ทำแผน ก็ขอให้ตั้งบริษัทวิชชั่นแพลนเนอร์จำกัด เป็นผู้บริหารชั่วคราวของลูกหนี้

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอและนัดไต่สวนในวันที่ 2เมษายน 2544 ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2544 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าลูกหนี้รายนี้เคยยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการมาแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม2544 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเมื่อวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2544 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 129/2544

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า คำร้องขอของผู้ร้องขอเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ให้ยกคำร้องขอ

ผู้ร้องขออุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องขอว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องขอชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 บัญญัติว่า “เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น…” ฉะนั้นกรณีจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ศาลจะต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือประเด็นแห่งคดีในประเด็นเดียวกันโดยอาศัยเหตุหรือข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน แม้ว่าในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการทุกคดีจะต้องระบุถึงช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/6(3) แต่การที่จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นกรณีที่ศาลได้พิจารณาในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิธีการ ตลอดจนแนวทางการฟื้นฟูกิจการอย่างเดียวกันด้วย ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 129/2544 ซึ่งลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ได้อ้างช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการว่าลูกหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเกือบทุกรายมีการประชุมเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ภายใต้กรอบของคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ (คปน) ในที่สุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2543 เจ้าหนี้สถาบันการเงินซึ่งมีอัตราส่วนจำนวนหนี้คิดเกินกว่าร้อยละ 85 ของจำนวนหนี้มีมติเห็นชอบที่จะยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และหากมีการทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ เช่น ปรับลดต้นเงินและดอกเบี้ยให้เพิ่มหรือคงไว้ซึ่งเงินทุนหมุนเวียนในกิจการแปลงหนี้เป็นทุนบางส่วนปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกิจการของลูกหนี้ ให้หน่วยราชการเข้ามาเช่าพื้นที่ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มาตรการดังกล่าวจะทำให้กิจการของลูกหนี้ฟื้นตัวได้ ในคดีดังกล่าวมีเจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้าน4 ราย ศาลล้มละลายกลางมีคำวินิจฉัยว่า นอกจากสัญญาเช่าที่ลูกหนี้ทำกับผู้เช่าอาคารซึ่งมีกำหนดเวลา 1 ถึง 3 ปี ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถปรับอัตราค่าเช่าให้สูงขึ้น หรือจัดหาผู้เช่าให้เช่าให้เต็มพื้นที่ได้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่มีแนวทางหรือมาตรการอื่นใดที่จะดำเนินการให้มีกำไรหรือรายได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน จึงเป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ส่วนที่ลูกหนี้คาดว่าจะสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยให้เจ้าหนี้ลดยอดหนี้และเพิ่มวงเงินหมุนเวียนก็เป็นเรื่องที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน เอกสารหมาย ร.6 และ ร.7ไม่ได้ยืนยันว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะยินยอมปรับโครงสร้างหนี้โดยลดยอดหนี้หรือสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนดังลูกหนี้อ้าง ส่วนเจ้าหนี้รายสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่พยานเบิกความว่าจะยินยอมลดยอดหนี้ลงร้อยละ 80 ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน จึงไม่มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงให้ยกคำร้องขอ ส่วนคดีนี้ผู้ร้องขอซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการว่าก่อนยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้โดยผู้ร้องขอ ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน คือ ผู้ร้องขอ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) และสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีทรัพย์สินส่วนใหญ่ของลูกหนี้จดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกัน และมีหนี้รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.40 ของจำนวนหนี้ของลูกหนี้ทั้งหมด ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งสามรายมีมติร่วมกันในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ปัจจุบันลูกหนี้มีรายได้จากค่าเช่าอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่พอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ทั้งหมด ควรมีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลดจำนวนหนี้ลงให้เหมาะสมไม่เกินกำลังความสามารถของลูกหนี้ซึ่งผู้ร้องขอและธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ได้ทำข้อตกลงกับลูกหนี้ไว้แล้ว ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ว่าจะยอมลดยอดหนี้ให้บางส่วน ยอมลดอัตราดอกเบี้ยให้ และยอมแปลงหนี้ส่วนหนึ่งเป็นทุนทั้งขยายระยะเวลาการชำระหนี้ส่วนที่เหลือออกไปอีกไม่น้อยกว่า 10 ปีเมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้แล้วก็จะเกิดความมั่นใจแก่ผู้ที่จะให้สินเชื่อใหม่ ทำให้ลูกหนี้สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนหรือโดยวิธีอื่นเพื่อนำเงินมาปรับปรุงพื้นที่ในส่วนนี้ให้เป็นพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้นได้ ทำให้กิจการของลูกหนี้ฟื้นตัวได้ในอนาคต ประกอบภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงขาขึ้น จึงเห็นได้ว่าสาระสำคัญในเหตุที่อ้างอันเป็นช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการในคดีนี้แตกต่างจากคดีก่อนอย่างเห็นได้ชัด ทั้งมีเหตุซึ่งเกิดขึ้นใหม่อันจะเป็นผลดีในการที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อีกหลายประการ รวมทั้งยังมีหนังสือของสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่าขอให้การสนับสนุนในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการมีช่องทางที่จะสำเร็จลงได้ สำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์จึงยินยอมที่จะลดยอดหนี้ให้ลูกหนี้ถึงร้อยละ 80 ของจำนวนหนี้ที่ค้างอยู่ เช่นนี้ข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างในช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของคดีนี้จึงแตกต่างจากคดีก่อน การรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งผู้ร้องขอได้ยื่นไว้พิจารณาจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายพ.ศ. 2542 มาตรา 14 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องขอฟังขึ้น”

พิพากษายกคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ให้ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอของผู้ร้องขอไว้ดำเนินการต่อไปแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share