คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1555/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 7 วัน และปรับ 500บาท โทษจำคุกเปลี่ยนเป็นกักขัง จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า โทษจำคุก 7 วันไม่เปลี่ยนเป็นกักขัง และให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นั้นไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย เพราะการรอการลงโทษ จำเลยยังไม่ต้องรับโทษ จึงเบากว่าโทษกักขัง
ฎีกาโจทก์ที่ขอให้ลงโทษกักขังจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว เป็นฎีกาดุลพินิจการลงโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้มาก ก็ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ ฟังได้ว่าเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๑๖ จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ขายปลีกข้าวสาร บังอาจจัดให้มีป้ายแสดงราคาสินค้า (ข้าวสาร) ไม่ตรงกับที่ประกาศควบคุมราคาไว้ คือทางราชการประกาศควบคุมราคาข้าวสารชนิด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ราคาถังละ ๔๘ บาท ลิตรละ ๒.๘๐ บาท แต่จำเลยเขียนป้ายแสดงราคาถังละ ๕๗ บาท ลิตรละ ๓ บาท ตำรวจจับจำเลยได้พร้อมป้ายของกลางเหตุเกิดที่แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๕, ๘, ๑๗ ประกาศคณะกรรมการกลางป้องกันการค้ากำไรเกินควร (ฉบับที่ ๖๔) พ.ศ. ๒๕๑๖ เรื่องควบคุมและกำหนดราคาสูงสุดของข้าวสารเจ้า ปลายข้าวและรำข้าว ข้อ ๕ ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๑๖ ลงโทษจำคุก ๑๔ วัน และปรับ ๑,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลย ๗ วัน และปรับ ๕๐๐ บาท จำเลยเป็นหญิงไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังตามมาตรา ๒๓ ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุก แล้วยกโทษจำคุกหรือรอการลงโทษไว้ และลงโทษปรับจำเลยแต่สถานเดียว
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า โทษจำคุก ๗ วันของจำเลยไม่เปลี่ยนเป็นโทษกักขังและให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลย และรอการลงโทษไว้ไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย เพราะการรอการลงโทษจำเลยยังไม่ต้องรับโทษ จึงเบากว่าโทษกักขัง ซึ่งจำเลยต้องถูกส่งตัวไปกักขังยังสถานที่ที่กำหนดไว้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษกักขังจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นเป็นฎีกาดุลพินิจการลงโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้มาก ก็ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๐ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายืน

Share