คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8875/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การจะนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและศาลได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความในคดีอาญาด้วย เมื่อข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับ ม. หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและศาลชั้นต้นก็ไม่ได้วินิจฉัยไว้ ทั้งจำเลยไม่ได้ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับ ม. จำเลยจึงไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญา คดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยเนื่องจาก ม. ปลอมลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีลูกค้าของโจทก์แล้วฝากเข้าบัญชีของจำเลย จึงเป็นการฟ้องเพื่อติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนมาจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,020,342.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า นางมลฤดีปลอมลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีลูกค้าของโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งละ 1,500,000 บาท เป็นเงิน 3,000,000 บาท แล้วนำฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 019 – 2 – 20682 – 9 ของจำเลย ที่ธนาคารโจทก์ สาขาพรานนก พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางมลฤดีในข้อหาลักทรัพย์และความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8943/2542 ของศาลอาญา จำเลยฎีกาประการแรกทำนองว่า โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่านางมลฤดีและจำเลยร่วมกันลักทรัพย์โจทก์ แต่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยคงมีคำสั่งฟ้องเพียงนางมลฤดี ดังนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาลเป็นจำเลยร่วมกับนางมลฤดีในคดีดังกล่าวแต่จำเลยก็ผ่านขั้นตอนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและขั้นตอนการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ของพนักงานอัยการอันเป็นการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยแล้ว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่ศาลคดีนี้ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับนางมลฤดีตามที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า การจะนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและศาลได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความในคดีอาญาด้วย เมื่อข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยมีส่วนร่วมกระทำผิดกับนางมลฤดีหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นโดยตรงในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8943/2542 ของศาลอาญา และศาลอาญาก็ไม่ได้วินิจฉัยไว้ และจำเลยไม่ได้ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับนางมลฤดี จำเลยจึงไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามที่จำเลยฎีกา ที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ระบุว่า จำเลยกับนางมลฤดีร่วมกันโดยทุจริตลักเงินของโจทก์ โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยและนางมลฤดีในข้อหาลักทรัพย์ซึ่งเป็นคดีอาญา อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางแพ่ง โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2542 โจทก์เพิ่งฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2545 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ทั้งหมดแล้ว เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยเนื่องจากนางมลฤดีปลอมลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีลูกค้าของโจทก์แล้วฝากเข้าบัญชีของจำเลย จึงเป็นการฟ้องเพื่อติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ตามที่จำเลยต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับนางมลฤดี การที่มีผู้โอนเงินมาให้จำเลยจึงเป็นการรับโอนโดยสุจริต จำเลยจึงเป็นเจ้าของเงินจำนวน 3,000,000 บาท โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วว่า เงินจำนวน 3,000,000 บาท ที่อยู่ในบัญชีของจำเลยนั้นเป็นเงินที่นางมลฤดีปลอมลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีลูกค้าของโจทก์แล้วฝากเข้าบัญชีของจำเลย มิใช่เงินที่พันตำรวจโทสมบัติโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยตามที่จำเลยให้การต่อสู้ โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากจำเลยผู้ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะยึดถือไว้ จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share